กองทุน มะอาริฟ

“เป็นกองทุนอิสลามเพื่อการกุศล ที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตพี่น้องมุสลิม”

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นโยบายกองทุนมะอาริฟ (4 ส)

ส ส่งเสริมด้านการศึกษา
ส สนับสนุนคนดีมีคุณธรรม
ส สานสัจธรรมอิสลาม
ส สู่สังคมอุดมคติ
“ มุ่งเน้นให้พี่น้องมุสลิมพึงตระหนักหน้าที่ต่อสังคม ด้วยการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาและสนับสนุนคุณภาพชีวิตของพี่น้องมุสลิมให้ดีขึ้น"

พันธกิจกองทุนมะอาริฟ

1. บริหารจัดการซะกาต วะกัฟ และเงินบริจาคด้วยระบบอิสลาม
2. พัฒนาระบบการจัดการให้มีศักยภาพในการเป็นกองทุนเพื่อการกุศล
3. มุ่งมั่นเสริมความแข็งแกร่งและบูรณาการควบคู่กับการให้ความสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องมุสลิม

วิสัยทัศน์

“เป็นกองทุนอิสลามเพื่อการกุศล ที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตพี่น้องมุสลิม”

ความเป็นมาของกองทุนมะอาริฟ

จากการที่ได้สำผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน พบว่าในสังคมมุสลิมของเราจำเป็นต้องมีองค์กรการกุศลอีกหลายๆองค์กรเพื่อเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือและสนองความต้องการของพี่น้องมุสลิม ทั้งด้านการศึกษา และเศรษฐกิจ
ปัจจุบันมีนายทุนหน้าเลือดมาในคราบนักบุญ ด้วยการปล่อยสินเชื่อ รับจำนำ ดอกเบี้ยแพง ๆ ซึ่งทำให้คนในสังคมมีสถานะการเงินแย่ลงเรื่อยๆ ขัดกับเจตนารมณ์อิสลามอันสูงส่งที่ต้องการสร้างสังคมที่สมานฉันท์เต็มไปด้วยรอยยิ้มและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยมิได้หวังสิ่งอื่นใด
สำหรับรายได้หลักของกองทุน มะอาริฟ มาจากซะกาต วะกัพและเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา โดยที่นโยบายของกองทุนฯ จะเน้นการให้ทุนการศึกษา การให้ยืมปราศจากกำไรและรับจำนำ เป็นต้น
กองทุน มะอาริฟ ตั้งเป้าปี 2552 นี้ จะเพิ่มทุนการศึกษา เน้นการให้ยืมปราศจากกำไรและรับจำนำแบบอิสลาม

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การนอนตามสุนนะฺนบี


นบีมุฮำหมัด เป็นศาสนฑูต ที่นำคำสอนต่างๆ ให้มุสลิมกระทำตาม รวมถึงท่านเป็นแบบอย่าง(Model) ที่ทุกคนต้องทำตามด้วย ซึ่งในบางครั้งเราทำตามท่านเพราะเรารักท่าน และเป็นคำบัญญัติที่ต้องทำตามท่าน โดยไม่รู้ว่าดีอย่างไร อย่างเช่น ท่านอน ท่านจะนอน ตะแคงขวา และท่านได้สอนว่า ..

قَالَ النَّبِيُّ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏إِذَا أَتَيْتَ مَضْجَعَكَ فَتَوَضَّأْ وُضُوءَكَ لِلصَّلَاةِ ثُمَّ اضْطَجِعْ عَلَى شِقِّكَ الْأَيْمَنِ

ความว่า : เมื่อเจ้าเข้าไปนอนจงอาบน้ำละหมาดเพื่อละหมากแล้วเอียงนอนตะแคงขวา

วงการแพทย์สมัยใหม่ก็ยอมรับและสนับสนุนให้นอนตะแคงขวา


นพ.ชนินทร์ ลีวานันท์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การพักผ่อนที่ดีที่สุดคือ การนอนหลับ มนุษย์ใช้เวลาเพื่อนอนหลับถึง 1ใน 3 ของอายุขัย ขณะนอนหลับท่านอนเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้ผู้นอนหลับสนิทตลอดคืน และตื่นนอนด้วยความสดชื่น ไม่รู้สึกปวดเมื่อย ซึ่งโดยปกติคนทั่วไปคนเรานิยมนอนหงาย เพราะเป็นท่านอนมาตรฐาน การนอนหงายที่เหมาะสมนั้น ควรใช้หมอนต่ำและต้นคอควรอยู่ในแนวเดียวกันกับลำตัว เพื่อไม่ให้ปวดคอ อย่างไรก็ตาม ท่านอนหงายไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคปอดและโรคหัวใจ เพราะกล้ามเนื้อกระบังลมจะกดทับปอดทำให้หายใจไม่สะดวก ส่งผลทำให้การทำงานของหัวใจลำบากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้มีอาการปวดหลังการนอนหงายในท่าราบจะทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นด้วย

นพ.ชนินทร์ กล่าวว่า สำหรับท่านอนที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับท่านอนอื่น ๆ คือ ท่านอนตะแคงขวา เพราะจะช่วยให้หัวใจเต้นสะดวก และอาหารจากกระเพาะจะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ส่วนท่านอนตะแคงซ้ายซึ่งจะช่วยลดอาการปวดหลังได้ แต่ควรกอดหมอนข้าง และพาดขาไว้เพื่อป้องกันอาการชาที่ขาซ้ายจากการนอนทับเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ท่านอนตะแคงซ้ายอาจทำให้เกิดลมจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ เนื่องจากอาหารที่ยังย่อยไม่หมดในช่วงก่อนเข้านอนคั่งค้างในกระเพาะอาหาร ส่วนท่านอนคว่ำเป็นท่าที่ทำให้หายใจติดขัด ทั้งยังทำให้ปวดต้นคอ เพราะต้องเงยหน้ามาทางด้านหลังหรือบิดหมุนไปข้างใดข้างหนึ่งเป็นเวลานาน ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องนอนคว่ำจึงควรใช้หมอนรองใต้ทรวงอก เพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อยต้นคอ.[1]

ท่านนบี ไม่ได้เป็นแพทย์ แต่ท่านแนะนำในสิ่งที่ถูก ฉะนั้นท่านคือศาสดาที่แท้จริง และความรู้ที่ท่านสอนก็คือความจริงที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์
คัดลอกจาก Ibm ครูปอเนาะ ڬوروفوندق http://gotoknow.org/blog/ibm401/71169

ความสำคัญของเยาวชนมุสลิม

ความสำคัญของเยาวชนกับอิสลาม

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญ เอาใจใส่ต่อเยาวชนมาก ไม่ว่าจะในด้านการอบรมเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ปกปักรักษา เพื่อพวกเขาจะได้เป็นผู้ที่สืบทอดอุดมการณ์ของอิสลาม และปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาต่อประชาชาติของพวกเรา และเพื่อพวกเขาจะได้สานต่อกิจการงานที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้มอบหมายก่อนที่จะจากไป
ดังนั้นหน้าที่ของเยาวชนต่อสังคมของมนุษน์นั้นมีความสำคัญมาก ในยามที่สงบ พวกเขาก็จะเป็นพลเมืองที่ใช้แรงงานอย่างขยันขันแข็งและอดทน แต่เมื่อยามสงคราม พวกเขาจะเสียสละทั้งเลือดเนื้อและชีวิต ที่จะสู้รบกับศัตรูอย่างกล้าหาญและจริงจัง พร้อมที่จะแบกรับภาระต่างๆ อันหนักอึ้งไว้บนบ่าอันแข็งแกร่ง พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือในการวางกฎระเบียบของสังคม และพร้อมที่จะระดมความคิดอันเฉียบแหลมที่จะสร้างสรรค์ความเจริญ ให้แก่สังคมทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรมและการพัฒนาสังคม
ในอดีตกาลเยาวชนมุสลิม เคยมีบทบาทมากต่อศาสนาและสังคมมุสลิม มีความอดทนและกล้าหาญ ที่ยืนหยัดและมั่นคงต่อหลักการของศาสนาอิสลาม ดังตัวอย่างของท่านนบีอิบรอฮีม ท่านได้ใช้ความคิด สติปัญญา ในการศรัทธาทั้งๆที่ท่านยังเยาว์วัย ท่านปฏิเสธที่จะกราบไหว้รูปปั้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวต่างๆ และสรรพสิ่งทั้งปวง นอกจากอัลลอฮ์องค์เดียวเท่านั้น . ท่านนบียุซุฟที่จะต้องอดทนต่อการรังแกของบรรดาพี่ๆของท่าน ที่นำท่านไปทิ้งไว้ในบ่อ จนมีคนมาพบเห็น และนำไปขายต่อที่ประเทศอียิบต์ และยังจะต้องอดทนต่อการยั่วยวนของหญิงนางหนึ่ง จนในที่สุดท่านก็ได้เลือกที่จะอยู่ในคุก ดีกว่าที่จะยอมตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของนางผู้นั้น . และท่นนบีมูฮำหมัดของเราเอง เมื่อตอนที่ท่านยังเยาว์วัย ท่านก็กำพร้าทั้งบิดามารดา ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของลุงและปู่ของท่าน ท่านเป็นคนที่ขยันทำงาน และมีความซื่อสัตย์ ท่านเคยเป็นหัวหน้ากองคาราวาน เป็นผู้นำสินค้าไปค้าขาย ณ ประเทศซีเรีย ท่านเป็นที่รักของบุคคลที่มาติดต่อซื้อขายด้วย ในที่สุดท่านก็ได้รับสมญานามว่า “ อัลอามีน ” ซึ่งแปลว่าผู้ที่มีความซื่อสัตย์.ส่วนท่านอาลีบินอาบีตอลิบ ท่านเป็นคนแรกในบรรดาเด็กๆด้วยกันที่ศรัทธาในอิสลาม ท่านไม่เกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ตัวท่าน ท่านมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ยืนหยัดต่อหลักการและอุดมการณ์ ท่านได้สละชีวิตของท่าน เพื่อที่จะปกป้องท่านรอซูลุลลอฮ์และอัลอิสลาม. ในคืนที่ท่านรอซูลุลลอฮ์อพยพไปเมืองมาดีนะฮ์ ท่านได้สละตัวท่านไปนอนแทนที่ท่านรอซูลุลลอฮ์ เพื่อที่จะอำพรางสายตาของพวกกาเฟร ให้พวกนั้นหลงคิดว่าท่านรอซูลุลลอฮ์ยังคงนอนอยู่บนที่นอน ท่านอุซามะฮ์บินเซด เคยเป็นแม่ทัพนำทหารมุสลิม ไปทำการสู้รบกับพวกโรม อย่างอาจหาญและอดทน ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุแค่ 18 ปีเท่านั้น
และยังมีอีกหลายๆท่านที่เป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชนมุสลิม สมควรอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้และนำมาเป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชนมุสลิมในปัจจุบัน ได้เป็นอย่างดี
พี่น้องที่รักทั้งหลาย เมื่อเราลองหันกลับมามองดูเยาวชนมุสลิมในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า พวกเขาได้ห่างเหินออกจากแนวทางของศาสนาอิสลาม การดำเนินชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้เป็นไปตามแนวปฏิบัติของท่านรอซูลุลลอฮ์ ( ซ.ล. ) กิจวัตรประจำวันของพวกเขา ก็หมกมุ่นอยู่กับวัตถุนิยม ถูกมอมเมาด้วยวัฒนธรรมตะวันตกเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้คำนึงว่าสิ่งที่เขาได้ปฏิบัติอยู่นั้น มันขัดต่อหลักการของอิสลาม หรือไม่ จะเห็นว่าวัยรุ่นทั้งชายและหญิง มีการจับมือถือแขน เที่ยวเตร่ในยามค่ำคืน โดยปราศจากการควบคุมดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องแต่งกาย ก็ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติที่ศาสนากำหนดไว้ มีการโอ้อวดสรีระบางส่วนของร่างกาย ตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของตน
เมื่อหันมามองพวกหนุ่มๆจะเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้น มัวแต่ใช้เวลาหมดไปกับการกีฬา บันเทิง และยาเสพติด โดยไม่คำนึงถึงอนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ไม่ค่อยจะเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา และครูอาจารย์ ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเองและสังคม การประกอบศาสนกิจนั้นก็เพิกเฉย ละเลยให้ปล่อยไปตามอารมณ์ที่ต้องการ นึกอยากจะเลียนแบบก็เลียนแบบ โดยไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้ ว่าอย่างใดที่ถูกต้องอย่างใดที่ไม่ถูกต้องกับหลกคำสอนของศาสนา บางครั้งก็ละทิ้งหรือไม่ก็ไม่ปฏิบัติเลย คือไม่เอาจริงเอาจังนั่นเอง
พวกเราทุกคนลองคิดและไตร่ตรองดูว่า ลูกหลานเยาวชนของเรา เมื่อมีสถาพเช่นนี้อีกไม่กี่ปีข้างหน้า อิสลามก็จะหมดไปจากหัวใจของพวกเขา ในที่สุดก็ไม่ต่างอะไรจากศาสนิกอื่น เพราะฉะนั้นขอให้พี่น้องผู้ศรัทธาในอัลลอฮ์ (ซ.บ. ) ทุกท่าน จงช่วยกันอบรมและสั่งสอนบุตรหลานของท่าน ให้พ้นจากปากเหวนรกที่จะเผาไหม้ร่างกายของเราในไฟนรก ดั่งที่เอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.)ได้ตรัสเอาไว้ว่า

ความว่า : โอ่ศรัทธาชนทั้งหลาย สูเจ้าจงปกป้องรักษาตัวของสูเจ้า และลูกหลานของสูเจ้าให้พ้นจากไฟนรกเทอญ (อัตตะห์รีม โองการที่ 6)
ดังนั้น การที่เราจะปกป้องลูกหลานให้พ้นจากไฟนรกนั้น มันเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะคอยดูแล เอาใจใส่บุตรหลานให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติตนให้อยู่ในหนทางของศาสนา และยังเป็นหน้าที่ของสังคมมุสลิมที่จะคอยดูแล ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง ช่วยกันเสียสละและเอาใจใส่เยาวชนมุสลิมห้เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นที่ยกย่องของคนในสังคมตลอดไป
คัดลอกจาก http://www.santitham.org/forum/index.php?topic=104.0

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การวะกัฟในอิสลาม

การวะกัฟ
การวะกัฟในอิสลาม การวะกัฟ คือ การจำกัดกรอบตัวทรัพย์(แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง)และอุทิศผลประโยชน์ของมันให้โดยหวังผลบุญจากอัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่และเกรียงไกร.


วิทยปัญญาในการบัญญัติการวะกัฟ
คนที่อัลลอฮฺได้ให้ความสะดวกสบายจากบรรดาคนที่ร่ำรวยหรือมีฐานะ อาจต้องการสะสมความดีต่างๆและทำบุญให้มาก พวกเขาก็สามารถนำเอาทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่เป็นวัตถุที่คงทนถาวรและประโยชน์ของมันยืดยาวมาทำการวะกัฟ เพราะเกรงว่าหลังจากที่ตายไปแล้วมันจะตกไปอยู่กับผู้ที่ไม่ดูแลและรักษามันให้ดี ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงบัญญัติการวะกัฟ.

หุก่มของการวะกัฟ
การวะกัฟถือเป็นสิ่งที่สุนัต และเป็นการบริจาคทานที่ดีที่สุดซึ่งอัลลอฮฺได้ให้การสนับสนุน และถือเป็นการงานที่สร้างความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ การงานที่ดี และกุศลกรรมที่สูงส่งที่สุด มีประโยชน์มากมายมหาศาลและครอบคลุมทั่วถึง เป็นการทำความดีที่มีความต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสายแม้หลังจากที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว.
รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า:
«إذَا مَاتَ الإنْسَانُ انْقَطَعَ عَنْـهُ عَمَلُـهُ إلَّا مِنْ ثَلاثَةٍ إلَّا مِنْ صَدَقَةٍ جَارِيَةٍ، أَوْ عِلْـمٍ يُنْتَفَعُ بِـهِ، أَوْ وَلَدٍ صَالِـحٍ يَدْعُو لَـهُ». أخرجه مسلم.
ความว่า "เมื่อมนุษย์ได้เสียชีวิต การงานต่างๆ ของเขาก็จะตัดขาด(สิ้นสุดลง) ยกเว้นจากสามสิ่ง(ที่จะไม่ขาด) คือจากการบริจาคทานที่คงถาวร ความรู้ที่ให้ประโยชน์ และจากลูกที่ศอลิหฺ(ที่ดี)ที่คอยขอพรให้แก่เขา" [บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1631]

เงื่อนไขที่จะทำให้การวะกัฟถูกต้องเป็นผล
1. สิ่งที่วะกัฟต้องเป็นทรัพย์สินที่เป็นวัตถุที่รู้แน่นอน สามรถใช้ประโยชน์ได้พร้อมกับคงรูปโดยไม่หมดสิ้นไป
2. การวะกัฟต้องเป็นไปในหนทางที่ดี เช่น มัสญิด สะพานหรือเขื่อน ญาติมิตรและคนยากจน
3. การวะกัฟจะต้องเจาะจงฝ่ายที่จะรับอย่างชัดเจนแน่นอน เช่นให้แก่มัสญิดหลังนั้น หรือเจาะจงตัวบุคคล เช่น ให้แก่นายซัยดฺเป็นต้น หรือเจาะจงประเภท เช่นให้แก่คนยากจน.
4. การวะกัฟต้องเป็นผลทันทีโดยไม่มีการกำหนดเวลาหรือผูกขาดไว้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด(เช่นหากคนนั้นมาฉันจะวะกัฟ..)ยกเว้นการแขวนไว้กับความตายของตัวผู้วะกัฟเอง(คือจะวะกัฟหลังจากที่ตัวเขาตายไปแล้ว)ถือว่าใช้ได้.
5. ตัวผู้วะกัฟจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำนิติกรรมได้ ( ผู้ที่วากัฟจะต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ )

การวะกัฟสามารถทำได้ด้วยวาจา เช่น การกล่าวว่า : ฉันวะกัฟให้ ฉันยกให้เป็นสาธารณะกุศล , ฉันมอบให้ทาน เป็นต้น และสามารถทำได้ด้วยการกระทำ เช่น การก่อสร้างมัสยิดและอนุญาตให้คนเข้าไปละหมาดได้ หรือการสร้างสุสานและอนุญาตให้นำศพไปฝังได้

จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผู้วะกัฟวางไว้ เช่นการรวม(ใครบ้าง)เข้าไป หรือ ให้(ใคร)ก่อนหลัง หรือเรียงลำดับ เป็นต้น ตราบใดที่เงื่อนไขนั้นไม่ขัดแย้งกับศาสนา และหากผู้วะกัฟไม่ได้วางเงื่อนใดๆถือว่าให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีหากไม่มันขัดกับหลักศาสนา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วให้ถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน.

สิ่งที่วะกัฟมีเงื่อนไขว่าจะต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน อาทิเช่น ตึก สัตว์ สวน อาวุธ เครื่องใช้ เป็นต้น และสุนัตให้ทำการวะกัฟทรัพย์ที่ดีสุด หรืองามที่สุดในบรรดาทรัพย์ที่มีอยู่.

วิธีการเขียนการวะกัฟ(จะวะกัฟอย่างไร ?)
รายงานจากท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา กล่าวว่า : อุมัรได้รับที่ดินที่ค็อยบัรฺ ดังนั้นเขาจึงไปหาท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และกล่าวว่า :
أَصَبْتُ أَرْضاً لَـمْ أُصِبْ مَالاً قَطُّ أَنْفَسَ مِنْـهُ فَكَيْفَ تَأْمُرُنِي بِـهِ؟ قَالَ: «إنْ شِئْتَ حَبَّسْتَ أَصْلَـهَا وَتَصَدَّقْتَ بِـهَا» فَتَصَدَّقَ عُمَرُ أَنَّـهُ لا يُبَاعُ أَصْلُـهَا وَلا يُوْهَبُ وَلا يُوْرَثُ، فِي الفُقَرَاءِ وَالقُرْبَى وَالرِّقَابِ وَفِي سَبِيلِ الله وَالضَّيْفِ وَابْنِ السَّبِيلِ، لا جُنَاحَ عَلَى مَنْ وَلِيَـهَا أَنْ يَأْكُلَ مِنْـهَا بِالمَعْرُوفِ أَوْ يُطْعِمَ صَدِيقاً غَيْرَ مُتَـمَوِّلٍ فِيهِ. متفق عليه
ความว่า ฉันได้ที่ดินหนึ่งที่ฉันไม่เคยได้ทรัพย์สินใดเลยที่มีค่ามากกว่ามัน ท่านจะให้ฉันทำอย่างไรกับมันดี ? ท่านนบีกล่าวว่า "ท่านอาจจะทำการเก็บกักตัวมันไว้แล้วทำการบริจาคผลประโยชน์ของมันเป็นทานกุศล” ดังนั้นท่านอุมัรก็ได้ทำการบริจาค โดยที่ตัวที่ดินจะไม่ถูกขาย หรือยกให้ใคร หรือสืบทอดเป็นมรดก โดยยกประโยชน์ของมันให้แก่คนยากจน ญาติพี่น้อง ทาส และการสู่รบในหนทางของอัลลอฮฺ แขกผู้มาเยือน และคนเดินทางที่ขาดเสบียง และไม่มีปัญหาสำหรับผู้ที่รับผิดชอบดูแลมันที่จะรับประทานประโยชน์ของมันด้วย โดยความชอบธรรม หรือเขาอาจมอบให้แก่เพื่อนของเขาด้วยโดยไม่เป็นการสะสมมันเอามาเป็นทรัพย์สิน [บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 2772 ซึ่งคำรายงานนี้เป็นของท่าน และบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1632]

หากทำการวะกัฟแก่กลุ่มบุคคลที่สามารถนับได้วายิบที่จะต้องมอบให้แก่ทั้งหมด(โดยไม่ยกเว้น) และให้สิทธิเท่าเทียมกัน แต่หากไม่สมารถจะทำอย่างนั้นได้(เพราะมีเหตุจำเป็น)ถือว่าอนุญาตให้แจกแจงรายละเอียด(ของบุคคล)และเจาะจงเฉพาะบางส่วนในกลุ่ม

หากวะกัฟให้กับบรรดาลูกๆ แล้วหลังจากนั้นให้แก่คนยากจน ถือว่าผลประโยชน์ของสิ่งนั้นเป็นของบรรดาลูกๆ ทั้งลูกชายและลูกผู้หญิง และลูกๆของพวกเขา(หลาน) รวมถึงแหลนๆและผู้สืบเชื่อสายรุ่นต่อๆไป โดยที่ลูกที่เป็นชายผู้จะได้รับส่วนแบ่งเป็นสองเท่าของลูกผู้หญิง และหากพวกเขาบางส่วนมีครอบครัวหรือมีความจำเป็นหรือไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ หรืออาจเจาะจงสำหรับผู้ที่มีความเครงครัดในศาสนาเป็นคนดีมีศิลธรรม การวะกัฟโดยเจาะจงคนเหล่านั้นก็ถือว่าใช้ได้.

หากผู้วะกัฟกล่าวว่า “สิ่งนี้วะกัฟให้แก่ลูกๆของฉันที่เป็นชาย หรือบรรดาลูกชายของคนๆนั้น ถือว่าได้เฉพาะลูกที่เป็นชายเท่านั้นไม่รวมลูกหญิง ยกเว้นหากผู้ที่ถูกวะกัฟให้เป็นเผ่า เช่นเผ่า(บะนี)ฮาชิม เป็นต้น ถือว่าผู้หญิงก็ครอบคลุมเข้าไปกับผู้ชายด้วย(เพราะคำว่าบะนีในที่นี้ไม่ได้แปลว่าลูกชายเท่านั้นแต่แปลว่าเผ่า)

หุก่มเมื่อสิ่งที่วะกัฟมิอาจใช้ประโยชน์ได้
การวะกัฟเป็นข้อตกลงที่ผูกมัดไม่อนุญาตให้มีการยกเลิก ขาย ยกให้ สืบทอดเป็นมรดก หรือนำไปจำนำจำนอง ดังนั้นหากผลประโยชน์ของมันเกิดขัดข้องอาจเป็นเพราะสิ่งวะกัฟเกิดชำรุดเสียหายเป็นต้น ถือว่าวายิบที่จะต้องขายมันไป แล้วนำราคาของมันไปบริจาคในสิ่งที่เหมือนกัน เช่นหากมัสยิดหนึ่งเกิดใช้ประโยชน์ไม่ได้ก็ให้ขายแล้วนำเงินไปให้มัสยิดอื่นทั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของการวะกัฟไว้ ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวจะไม่เกิดผลเสีย หรืออันตรายแก่ใครๆ.

หุก่มการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของสิ่งที่วะกัฟ
สุนัตให้มีการเปลี่ยนแปลงบูรณะรูปลักษณ์ของสิ่งวะกัฟเมื่อผลประโยชน์ของมันเกิดขัดข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ เช่นเปลี่ยนบ้านให้เป็นร้านค้า เปลี่ยนสวนให้เป็นบ้าน โดยค่าใช้จ่ายสิ่งวะกัฟให้เอามาจากผลประโยชน์ของมัน ยกเว้นหากมีการวางเงื่อนไขให้เอาจากแหล่งอื่น และอนุญาตให้ขัดกับเนื้อหาคำกล่าวของผู้วะกัฟเพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า ดีกว่า หรือตรงตามความประสงค์ของอัลลอฮฺมากกว่า.

ผู้จัดการและบริหารการวะกัฟ
ถ้าหากผู้ที่วากัฟไม่ได้ระบุผู้ที่จะดูแลสิ่งวะกัฟ ถือว่าการดูแลนั้นจะตกเป็นหน้าที่ของผู้ที่ถูกวะกัฟให้หากเป็นบุคคล แต่ถ้าหากวะกัฟให้กับองค์กร เช่นมัสญิด หรือเป็นบุคคลที่ไม่อาจจำกัดได้ เช่นคนยากจน ถือว่าการดูแลรักษาเป็นหน้าที่ของศาลหรือผู้มีอำนาจปกครอง.

สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในการวะกัฟ
การวะกัฟที่ประเสริฐที่สุดคือสิ่งผลประโยชน์ของมันครอบคลุมบรรดาคนมุสลิมในทุกยุคทุกสมัยและสถานที่ เช่น การวะกัฟให้แก่มัสญิด สถานศึกษา นักศึกษา ผู้ที่ทำการญิหาดในหนทางของอัลลอฮฺ เครือญาติ คนยากจน และผู้อ่อนแอในหมู่มุสลิมเป็นต้น.
การวะกัฟนั้นเป็นสิ่งถาวรที่อนุญาตให้มอบให้คนอื่นทำการทำนุบำรุงพัฒนา(นำไปบริหาร)โดยใช้ทุนทรัพย์ของคนๆ นั้นแล้วนำกำไรมาแบ่งกัน(ระหว่างผู้รับวะกัฟกับผู้ที่เอาไปบริหาร).
เขียนโดย : มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์ แปลโดย : อิสมาน จารง

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

รอมฎอน อัล-มุบารอก


การเริ่มเดือนรอมฎอน

บรรดาศรัทธาชนต่างผินสายตาของพวกเขาสู่ฟากฟ้าเพื่อค้นหาดวงจันทร์เเรกของเดือนรอมฎอน พวกเขารวมตัวกันเป็นกลุ่มๆเเต่ละท้องที่ เพื่อรอคอยการยืนยันถึงการเห็นดวงจันทร์ของเดือนรอมฎอนด้วยหัวใจที่ปลื้มปิติ เพราะท่านรอซูล ซ.ล. ได้กล่าวไว้ว่า

“ท่านทั้งหลายจงถือศีลอดเมื่อเห็นดวงจันทร์ เเละจงละศีลอดเมื่อเห็นดวงจันทร์ ถ้าหากมีสิ่งใดบดบัง (ดวงจันทร์) แก่ท่านทั้งหลาย ก็จงนับเดือนชะอ์บานให้ครบ 30 วัน”

นี้เป็นความรู้สึกที่ดียิ่ง หรือภาพพจน์ที่ดีงาม ซึ่งเเสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่เเน่วเเน่ในการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นอิบาะฮ์ที่พระองค์อัลเลาะฮ์ทรงบัญญัติมา พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ในหะดีษกุดซีย์ว่า

“การงานของลูกหลานอาดัมเป็นของเขานอกจากการถือศีลอดมันเป็นของข้า และข้าจะตอบเเทนมัน”

การถือศีลอดได้ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานว่าเป็นฟัรฎูเพียงหนึ่งครั้ง ในขณะที่บัญญัติอื่นๆเช่น การละหมาด การประกอบพิธีฮัจญ์ การบริจาคซากาต การญิฮาด (ต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะฮ์) เเละการงานที่ประเสริฐต่างๆได้ถูกกล่าวไว้ในกุรอานหลายครั้ง เเละในหลายอายะฮ์ เหมือนกับว่าพระองค์อัลเลาะฮ์ได้ให้ความสำคัญต่อการถือศีลอดมากกว่าบัญญัติอื่นๆ พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงกำหนดให้การถือศีลอดเป็นหน้าที่จำเป็น ดังอายะฮ์ที่ว่า

“โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูดกำหนดเเก่สูเจ้าทั้งหลายเเล้ว”

พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงใช้ถ้อยคำเรียกบรรดามุมินทั้งหลาย ก่อนที่จะกล่าวถึงบัญญัติศาสนาด้วยถ้อยคำที่สละสลวยว่า “โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย” เป็นการเสริมความสัมพันธ์ที่ดีงามดังคำพูดของอิบนิมัสอูด กล่าวว่า “เมื่อท่านได้เห็นพระองค์อัลเลาะฮ์ทรงตรัสว่า โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย ท่านก็จงตั้งใจฟังเถิด เพราะพระองค์จะทรงตรัสใช้ให้ปฏิบัติความดีหรือให้ละเว้นการทำชั่ว”

พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงชี้เเจงว่า ประชาชาติก่อนๆก็ได้ถือศีลอดเช่นเดียวกัน ดังที่พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงตรัสว่า

“โอ้ บรรดาศรัทธาชนทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเเก่สูเจ้าทั้งหลาย ดังที่ได้ถูกกำหนดแก่ประชาชาติก่อนพวกสูเจ้า เพื่อว่าพวกสูเจ้าทั้งหลายจะยำเกรง” ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ /183)

บรรดานักปราชญ์ต่างพยายามค้นคว้าว่า การถือศีลอดที่ถูกกำหนดนั้นมีจำนวนวันเเละเวลาเท่ากับการถือศีลอดของประชาชาติ นบีมูฮำหมัดหรือไม่? พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงกำหนดการถือศีลอดให้แก่ชาวยิวเเละครีสเตียน แล้วพวกเขาได้เปลี่ยนเเปลงวิธีการเสีย หรือว่าพระองค์ได้ทรงกำหนดการถือศีลอดเเก่ประชาชาติก่อนทั้งหมด หรือว่ารูปเเบบของการถือศีลอดเป็นเพียงการงดเว้นการกินเเเละการดื่มขณะที่ถือศีลอดเท่านั้น

ศ. อาลี อัลดุลวาฮีด วาฟี ได้เขียนบทวิจัยภายใต้หัวข้อเรื่อง “การถือศีลอดของประชาชาติก่อนๆ” พิมพ์เผยเเพร่ในนิตรยสาร “ริซาละฮ์กอฮิรียะฮ์” อันดับที่ 1096 วันที่ 12 รอมฎอน ฮ.ศ. 1384 ตรงกับวันที่ 14 มกราคม 2508

พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงชี้แจงถึงเป้าหมายของการถือศีลอดไว้ว่า ไม่เป็นเพียงเเต่การงดเว้นอาหาร เครื่องดื่ม เเละการเสพความสุข ในตอนกลางวันของเดือนรอมฎอนเท่านั้น เเต่เพื่อที่จะฝึกจิตใจของเขาให้มีความยำเกรงต่ออัลเลาะฮ์ เขาก็ไม่ได้ถือศีลอดอย่างเเท้จริง ท่านนบีมูฮำหมัด ซ.ล. กล่าวว่า

“มีผู้ถือศีลอดจำนวนมากที่ไม่ได้รับผลจากการถือศีลอดนอกจากความหิวโหยเเละความกระหาย”

ท่านรอซูล ซ.ล. กล่าวต่อไปอีกว่า

“ผู้ใดที่ไม่ละทิ้งคำพูดที่ไร้สาระ และการกระทำตามคำพูดนั้นก็ไม่มีความต้องการใดๆสำหรับอัลเลาะฮ์ในการที่เขาได้ละทิ้งอาหารและเครื่องดื่มของเขา”

การถือศีลอดที่เเท้จริงจะสามารถระงับอารมณ์ไฝ่ต่ำจะทำให้มูลเหตุที่ทำให้การทำความชั่วหมดไป เพราะการถือศีลอดเป็นโล่ พระองค์อัลเลาะฮ์ก็ได้ทรงกำหนดให้การถือศีลอดในวันเฉพาะที่กำหนดเเน่นอน เเละเพื่อไม่สร้างความลำบากยากเเก่บรรดามุมินผู้ศรัทธาพระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงผ่อนปรนการถือศีลอดให้แก่บุคคลต่อไปนี้

“บรรดาวันที่เเน่นอน ดังนั้นผู้ใดในพวกสูเจ้าเจ็บป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ดังนั้นจงเลื่อนการถือศีลอดไปในวันอื่น เเละบรรดาผู้ที่ถือศีลอดทำให้เกิดความลำบากยาก ก็จงจ่ายอาหารให้เเก่ผู้ขัดสน ดังนั้นผู้ใดที่อาสาเสริมในความดีก็เป็นการดีสำหรับเขา เเละการถือศีลอดจะเป็นการดีสำหรับสูเจ้าทั้งหลาย ถ้าหากสูเจ้าทั้งหลายรู้” ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ /184

สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยไม่เป็นภาระหนัก หรือการเดินทางมีความสะดวกสบาย หรือความชราไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการถือศีลอดให้เเก่เขา ก็สมควรที่เขาจะถือศีลอด เพราะว่านั่นเป็นการดีสำหรับเขา พระองค์อัลเลาะฮ์ทรงกล่าวไว้ในหะดีษกุดซีย์ว่า

“การถือศีลอดเป็นความลับเฉพาะระหว่างบ่าวกับพระเจ้าของเขา”

หมายความว่า พระองค์อัลเลาะฮ์ทรงรู้ถึวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไม่สามารถในการถือศีลอดของเขา

เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีความปรเสริฐยิ่งเพราะว่าพระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงเริ่มประทานคัมภีร์อัลกุรอานลงในเดือนนี้ เพื่อให้เป็นทางนำเเละเป็นหลักฐานอันชัดเเจ้งเพื่อให้ท่านนบีมูฮำหมัด ซ.ล. นำมาประกาศเผยเเพร่
พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงกำหนดการถือศีลอดสำหรับผู้ที่อยู่ในภูมิลำเนาไม่ใช่ผู้เดินทาง เมื่อเขาเห็นดวงจันทร์ค่ำเเรกของเดือนรอมฎอน ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า

“ดังนั้น ผู้ใดในพวกสูเจ้ารู้ว่า เข้าเดือน (รอมฎอน) เขาจงถือศีลอด”

อิมามอิบนิกะซีร ได้กล่าวไว้ในหนังสืออธิบายอัลกุรอานของท่านว่า “นี่เป็นการกำหนดบังคับอย่างเด็ดขาดต่อผู้ที่เห็นดวงจันทร์เสี้ยว จะต้องถือศีลอดในเมื่อเขามิได้เดินทางเเละมีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย”
เชคมูฮำหมัด อะหมัด อัลอิดวี ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านชื่อ “การเชิญชวนไปสู่อัลเลาะฮ์ของบรรดาศาสนา” หน้าที่ 499 ว่า

“อายะฮ์นี้พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงชี้เเจงให้เราทราบว่า ผู้ที่รู้ว่าเข้าเดือนรอมฎอนเเล้วเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่นเเละเขตร้อน พวกเขาถูกบังคับให้ถือศีลอดในเดือนนี้ ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในเเถบขั้วโลก พวกเขามีกลางวันครึ่งปีเเละกลางคืนครึ่งปี พวกเขาจะไม่พบกับดวงจันทร์ต้นเดือนรอมฎอนเลยในกรณีนี้ บรรดานักปราชญ์มีความเห็นว่าให้พวกเขาคำนวณเพื่อกำหนดเดือนรอมฎอน เเล้วถือศีลอด”

พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงประทานศาสนาอิสลามมา เเละได้บัญญัติอิบาดะฮ์ต่างๆเพื่อให้บรรดามุสลิมปฏิบัติ มิใช่เพื่อสร้างความลำบากยาก พระองค์ทรงตรัสว่า

“พระองค์ทรงต้องการให้สูเจ้าทั้งหลายได้รับความสะดวกสบาย เเละทรงไม่ต้องการให้พวกสูเจ้าได้รับความยากลำบาก” (ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ /185)

ท่านรอซูล ซ.ล. กล่าวว่า
“แท้จริงฉันถูกส่งมาพร้อมด้วยศาสนาเเห่งการนอบน้อมที่สะดวกง่ายดาย”

พระองค์อัลเลาะฮ์ที่ได้ทรงบังคับให้ผู้ถือศีลอดรำลึกถึงพระองค์ ขอบคุณพระองค์ สดุดีในความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และขอพร (ดุอาอ์) ต่อพระองค์ ทั้งในยามเช้า ยามเย็นเเละก่อนการเเก้ศีลอด พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงตรัสไว้ในอายะฮ์ต่างๆเกี่ยวกับการถือศีลอดว่า

“เเละเมื่อบ่าวของข้าได้ถามเจ้าถึงข้า เเท้จริงข้าอยู่ใกล้ ข้าจะตอบต่อคำขอของผู้ที่ขอ เมื่อเขาขอต่อข้า ดังนั้น เขาจงวิงวอนขอต่อข้าเถิด เเละเขาจงศรัทธาต่อข้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้รับการนำทาง”
ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์/ 186

การวิงวอนขอดุอาอ์จากพระองค์อัลเลาะฮ์ไม่ต้องมีนายหน้าหรือสื่อกลางที่จะวิงวอนขอต่อพระองค์ เเละไม่มีการตั้งเงื่อนไขใดๆในการขอดุอาอ์ หากเเต่ขึ้นอยู่กับความหวังและพรประสงค์ของพระองค์
พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงกล่าวถึงมารยาทในการขอดุอาอ์ไว้ว่า

“สูเจ้าทั้งหลายจงวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าของสูเจ้าโดยมีความนอบน้อมและแบบค่อยๆ เเท้จริง พระองค์ไม่ทรงรักผู้ที่ละเมิด เเละสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าก่อความเสียหายในแผ่นดิน หลังจากที่ได้ปรับปรุงมัน เเละสูเจ้าวิงวอนขอต่อพระองค์ โดยมีความหวาดกลัว และมีความหวัง (ในการตอบรับดุอาอ์) แท้จริง ความเมตตาของพระองค์อัลเลาะฮ์อยู่ใกล้กับบรรดาผู้กระทำความดี”
ซูเราะฮ์ อัลอะอ์ร้อฟ / 55-56

ท่านอบู มูซา อัลอัชอะซีย์ ได้รายงานไว้ในหนังสืออซอเฮียะห์บุคอรี เเละซอเฮียะห์มุสลิม จากท่านรอซูล ซ.ล. ได้กล่าวกับผู้ที่ตะโกนขอดุอาอ์ว่า

“ประชาชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงขอดุอาอ์ภายในใจของพวกท่าน เเท้จริงท่านทั้งหลายมิได้วิงวอนขอต่อผู้ที่หูหนวกหรือผู้ที่ไม่อยู่ เเต่ทว่าท่านทั้งหลายได้วิงวอนขอต่อผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงอยู่ใกล้”

ท่านอิบนิกะซีร ได้กล่าวซึ่งถ้อยคำที่ดีไว้ว่า
“บรรดามุสลิมได้วิงวอนขอต่อพระองค์อัลเลาะฮ์อย่างมาก ไม่มีผู้ใดได้ยินเสียงของการขอดุอาอ์ของพวกเขา นอกจากเป็นเพียงเสียงกระซิบระหว่างเขากับพระเจ้าของเขา โดยเหตุนี้พระองค์อัลเลาะฮ์จึงตรัสว่า สูเจ้าทั้งหลายได้วิงวอนขอต่อพระเจ้าของสูเจ้าทั้งหลายด้วยความนอบน้อมเเละเเบบค่อยๆและพระองค์ได้ทรงกล่าวถึงการรำลึกถึงพระองค์ของบ่าวที่ดีท่านหนึ่งว่า ครั้นเมื่อเขาได้วิงวอนต่อพระเจ้าของเขา อันเป็นการวิงวอนที่ค่อยๆ บรรดามุมินจะวิงวอนขอต่ออัลเลาะฮ์ โดยที่เขามีความเชื่อมั่นในการตอบแทนของพระองค์ เเละเขาจะไม่มีความท้อแท้ใจในการตอบสนองการขอดุอาอ์เเละความเมตตาของพระองค์”

พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงกำหนดระยะเวลาในการถือศีลอดในวันหนึ่งกับคืนหนึ่งไว้ หลังจากที่พระองค์กำหนดเดือนรอมฎอน เป็นเดือนเเห่งการถือศีลอด พระองค์ทรงตรัสว่า
“สู้เจ้าทั้งหลายจงกินจ งดื่ม จนกระทั่งด้ายขาว (ความสว่าง) ประจักษ์เเจ้งจากด้ายดำ (ความมืด) ของรุ่งอรุณเเก่พวกสูเจ้า แล้วสูเจ้าทั้งหลายจงทำให้การถือศีลอด ครบสมบูรณ์จนถึงยามค่ำคืน”

ในหนังสือซอเอียะห์บุคอรีเเละมุสลิม จากท่านอนัสและท่านเชค บินซาบิต รฏิร กล่าวว่า
เราได้รับประทานอาหารสะฮูรร่วมกับท่านรอซูล ซ.ล. แล้วเราก็ลุกขึ้นไปละหมาด อนัสได้กล่าวกับเชคว่า ระยะเวลาห่างกันเท่าไรระหว่างอะซานเเละอาหารซะฮุร? ท่านกล่าวว่า “ระยะเวลาอ่านอัลกุรอาน ประมาณ 50 อายะฮ์”
ท่านรอซูลเรียกร้องให้ล่าช้าในการรับประทานอาหารสะฮูร เเละให้รีบเเก้ศีลอดเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เมื่อเเก้ศีลอดเรียบร้อยเเล้วก็อนุญาตให้มุสลิมปฏิบัติสิ่งต่างๆได้ตามความปราถนา เช่น การหลับนอนฉันสามีภรรยา ดังอายะฮ์ที่ว่า
“การร่วมหลับนอนกับภรรยาของสูเจ้าทั้งหลายในค่ำคืนของเดือนรอมฎอนเป็นที่อนุมัติสำหรับพวกสูเจ้า นางเหล่านั้นคืออาภรณ์ของพวกสูเจ้า เเละสูเจ้าทั้งหลายก็เป็นอาภรณ์สำหรับนางเหล่านั้น พระองค์อัลเลาะฮ์ทรงรู้ว่าสูเจ้าทั้งหลายได้หลอกลวงตัวของสูเจ้าเอง เเล้วพระองค์ก็ทรงอภัยและทรงยกโทษให้เเก่พวกสูเจ้า ขณะที่สูเจ้าทั้งหลายร่วมหลับนอนกับนางเเละจงเเสวงหาสิ่งที่พระองค์อัลเลาะฮ์ได้ทรงกำหนดให้เเก่พวกสูเจ้า”
ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ / 187

นี่คือ การพิเคราะห์อายะฮ์ต่างๆเกี่ยวกับการถือศีลอดโดยสรุปซึ่งเป้าหมายในการบำบัดโรคภายในจิตใจและเป็นทางนำภายในหัวใจของผู้พินิจพิจารณา เเละผู้ที่เฝ้ารอคอยการมาของเดือนรอมฎอน เพื่อเขาจะได้ปฏิบัติอิบาดะฮ์ต่อพระองค์อัลเลาะฮ์ ได้รับความเมตตาเเละความโปรดปรานจากพระองค์ในเดือนนี้ เป็นการเพียงพอเเล้วสำหรับท่านที่จะต้อนรับเดือนดังเช่นการต้อนรับเดือนนี้ของมะลาอิกะฮ์ว่า

“โอ้ ผู้ที่ปราถนาจะทำความชั่วจงหยุดยั้งเถิด โอ้ ผู้ที่ปราถนาจะทำความดีจงรีบเร่งเถิด”


โดย เชค มุเอาวัฎ อวัฎ อิบรอฮีม

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การถือศีลอดในยุคเทคโนโลยี

ปลายคริสตวรรษที่ 20 วิทยาการและเทคโนโลยีไหลกรากท้วมท้นศาสนาเก่าทุกศาสนากระทบและท้าทาย กระแสเทคโนโลยีแย่งชิงให้ผู้คนให้หลุดพ้นจากศาสนา โบสถ์วิหารจำนวนไม่น้อยถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนบ้าง บ้านพักคนชราบ้าง
ต้นปี 2539 ผู้นำในศาสนานิกายหนึ่งออกมาประกาศว่า นรกในศาสนาไม่เลวร้ายอย่างที่คิด เป็นการแปรเปลี่ยนทัศนะของฝ่ายศาสนาเพื่อหาหนทางที่จะดึงผู้คนที่ถอยหนีศาสนากลับคืน
ในท่ามกลางกระแสแปรเปลี่ยนรุนแรง ศาสนาอิสลามของประชากรกว่า 1,300 ล้านคนทั่วโลกหลีกหนีแรงกระแทกไปไม่พ้น ในขณะที่อารยธรรมด้านต่างๆพากันปรับตัวเพื่อหลีกหนีการล้มสลาย ชาวมุสลิมผู้ศรัทธายึดมั่นในครรลองแห่งอดีตที่ลุล่วงมานานกว่า 1,400 ปี
มุสลิมที่ยึดมั่นในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ยังเชื่อฟังคำสอนของศาสดามูฮัมมัด  ยังปฏิบัติตนเลียนแบบท่านศาสดา ทุกวันนี้มุสลิมทั่วโลกยังนมัสการพระผู้เป็นเจ้าวันละ 5 เวลา ยังถือศีลอดปีละ 1 เดือนยังบริจาคทานและยังแห่แหนไปแสวงบุญยังนครมักกะฮ์
คำถามท้าทายในท่ามกลางกระแสคลั่งเทคโนโลยี คือ อิสลามจะทนยืนหยัดไม่ยอมยืดหยุ่นไปกับการแปรเปลี่ยนของโลกไปได้อีกนานเท่าใด ในยุคเทคโนโลยีและบริโภคนิยม เช่นปัจจุบัน การถือศีลอดไม่กินไม่ดื่มไม่เสพกามในเวลากลางวัน อดทนอดกลั้นทำบุญทำทานกันตลอดเดือนรอมฎอน หรือเดือน 9 ตามปฏิทินอาหรับเป็นอีกสิ่งหนึ่งของอิสลามที่กำลังถูกทดสอบ
การถือศีลอดเป็นคำเรียกในภาษาไทยเพื่อแปรความในภาษาอาหรับว่า "อัซ-เซามุ" หรือ "อัศ-ศิยาม" ซึ่งหมายถึงการยับยั้ง การงดเว้นจากสิ่งหนึ่ง ชาวมุสลิมเมื่อมีอายุเข้าเกณฑ์หรือตั้งแต่ 13 ปีเป็นต้นไป หากมีสภาพร่างกายปรกติไม่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ไม่เป็นหญิงที่อยู่ในช่วงมีเลือดประจำเดือนหรือตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือเป็นผู้ไม่อยู่ในช่วงของการเดินทางไกล จะต้องถือศีลอดตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก
ในยุคข้อมูลข่าวสาร โลกก้าวหน้าทางการแพทย์ทุกวันนี้ แม้มุสลิมจะยังไม่ทันได้ตอบให้ผู้ที่มิใช่มุสลิม ได้ทราบว่าการถือศีลอดสร้างปัญหาแก่สุขภาพหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่ต่างพากันตรวจสอบผลกระทบของรอมฎอนต่อสุขภาพกายและใจของมุสลิมกันล่วงหน้าแล้ว แต่หากเมื่อยิ่งตรวจสอบก็ยิ่งพบและสิ่งที่พบคือความมหัศจรรย์ในหลักการอายุกว่า 1,400 ปี
ในปี 2531 นายแพทย์ P.Mansell และ I.Mecdonald รายงานไว้ในวารสาร British Medical Joumal และ Journal of Physiology ว่าการให้หญิงปรกติลดอาหารเป็นเวลา 7 วัน ร่างกายของผู้หญิงจะเริ่มปรับตัวไปทีละน้อยทุกวัน บทสรุปคือร่างกายมนุษย์ปรับตัวเพื่อให้รับสภาวะต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้แต่การปรับตัวจะทำให้ดีจะต้องมีการฝึกฝน
เมื่อได้ลองให้หญิงจำนวนหนึ่งอดอาหารอย่างสิ้นเชิงที่มุสลิมทำกัน ปรากฏว่าระบบย่อยอาหารทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้น ซึ่งปัญหาของอินซูลินนี้เอง ที่แพทย์ยุคใหม่สรุปว่าเป็นแกนในการสร้างปัญหาให้เกิดโรคที่เรียกว่า Syndrorne x อันประกอบไปด้วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันสูง โรคไต ไขมันสูงในเลือด ซึ่งเป็นโรคของมนุษย์ยุคเทคโนโลยี
การอดอาหารทำให้เกิดผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ขณะเดียวกันภาวะไขมันในเลือดกับดีขึ้น นายแพทย์ Maislos แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียนในอิสราเอลรายงานไว้ใน American Jounal of Clinical Nutrition ปี 1993 ว่าชาวอาหรับเบดูอินที่ถือศีลอดมีระดับ HDL ในเลือดมีระดับสูงขึ้น 30 % HDL เป็นพารามิเตอร์ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการขจัดคอเลสเตอรอลในเลือด เมื่อ HDL มีระดับสูงขึ้นย่อมบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจของคนผู้นั้นลดลง การถือศีลอดจึงช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ ข้อที่น่าสังเกตในกรณีนี้คือชาวเบดูอินเป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในโลกยุคเก่า กินน้อยใช้น้อยผิดกับยุคบริโภคนิยม ย่อมหมายความว่าการถือศีลอดในแนวทางของท่านศาสดาเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพอย่างแท้จริง
งานวิจัยของทางการแพทย์มากมายที่ยืนหยัดว่าการถือศีลอดไม่สร้างอันตรายให้แก่ร่างกาย นายแพทย์ Pierre Edouad แห่งกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสกล่าวไว้ในปี 2539 หากคนฝรั่งเศสที่มีปัญหาโรคอ้วน จำนวน 9 ล้านคนต้องการลดความอ้วนโดยร่างกายยังมีสุขภาพที่ดี การถือศีลอดแบบมุสลิมนาน 1-2 เดือนจะเป็นวิธีการดีที่สุด
การศึกษาของคณะแพทย์ที่โรงพยาบาล Sorrento เมืองเบอร์มิงแฮมของอังกฤษเมื่อปี 2532 พบว่า หญิงมุสลิม 2,200 คนตั้งครรภ์และยังถือศีลอดตลอดเดือนนรอมฎอนไม่มีปัญหาความผิดปรกติเลย นายแพทย์ J.Cross ของอังกฤษรายงานในปี 2533 ว่าเด็กทารกจำนวน 13,000 คนที่คลอดจากมารดาที่ถือศีลอดนั้นร่างกายแข็งแรงไม่มีความผิดปรกติแต่อย่างใด
กรณีของหญิงให้นมบุตรนั้น น้ำนมลดปริมาณลดลงแต่สารอาหารในน้ำนมเข้มข้นสูงขึ้น เด็กทารกที่ดื่ม นมมารดาที่ถือศีลอดจึงไม่ขาดอาหาร มีรายงานทางการแพทย์ด้วยว่าผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหัวใจ หากรับประทานอาหารตอนรุ่งเช้า (สะฮุร) และยาตามแพทย์สั่งสามารถถือศีลอดได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม หลักการของอิสลามนั้นการถือศีลอดเพื่อปกป้องจากความเชื่อและการมีสุขภาพที่ดี กรณีของผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรนั้นแม้จะไม่อันตรายแต่อิสลามได้ให้ข้อยกเว้นไว้โดยสามารถบริจาคแทน ได้ เรื่องนี้ เรื่องนี้ นายแพทย์ Aead tashid แห่งประเทศกาตาร์ สรุปไว้ในวารสาร British Medical Journal ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ปลอดภัยในคนปรกติส่วนผู้ป่วยควรเว้นซึ่งเป็นไปตามหลักการของอิสลาม
การที่อิสลามห้ามเรื่องการถือศีลอดในผู้ป่วยนั้นมีหลายสาเหตุที่รับฟังได้ ผู้ที่เป็นโรคไต เบาหวาน ขั้นรุนแรง โรคกระเพาะ หากถือศีลอดโดยไม่ฟังคำแนะนำจากแพทย์อาจมีอาการของโรครุนแรงขึ้นอาการ ขาดน้ำช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอาจสร้างปัญหากับโรคที่กล่าวถึงข้างต้น
อาการขาดน้ำอาจสร้างปัญหาอย่างหนึ่งให้เกิดในคนปรกติบางคนได้เช่นกัน รายงานของคณะแพทย์ ตีพิมพ์ใน Australian New Zealand Joumal เขียนไว้ว่าผู้ถือศีลอดอาจมีปัญหาธาตุโปรตัสเซี่ยมต่ำในเลือดอันเกิดจากการขาดน้ำ น่าแปลกใจว่าในผลอินทผลัมที่ชาวมุสลิมรับประทานขณะถือศีลอดช่วงเวลาเย็นโดยยึดถือตามแบบฉบับท่านศาสดามุฮัมมัด  นั้นมีธาตุโปรตัสเซี่ยมอยู่สูงถึง 54 มิลลิกรัมต่อหนึ่งผลขนาดกลางซึ่งถือว่ามีปริมาณโปรตัสเซี่ยมสูงเมื่อเทียบกับผักผลไม้ชนิดอื่น ทั้งยังมีน้ำตาลผลไม้ชนิด ฟรุสโตสที่ปรับปรุงการทำงานของ อินสุลินได้ด้วย
ความเชื่อทางศาสนาจำนวนไม่น้อยสุญสิ้นไปตามกาลเวลา ยุคเทคโนโลยีปลายศตวรรษที่ 20 เร่งการสาบสูญในทุกลักษณะให้รวดเร็วขึ้น แต่ถึงกระนั้นยังมีศาสนาอีกจำนวนไม่น้อยที่ยืนหยัดกล้าท้าทายความเปลี่ยนแปลง หลักการของอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวแห่งการถือศีลอดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างบทพิสูจน์ให้มนุษย์ในยุคเทคโนโลยีได้เห็นว่าแท้ที่จริงศาสนากับเทคโนโลยีก้าวคู่สู่ศตวรรษใหม่แห่งวิทยาการได้เสมอ
******** *********

มาแล้ว จุลสาร Ma'af ฉบับที่ 4

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

1. อัศศิยาม (الصيام) ทางภาษาหมายถึง การยังยั้ง งดเว้นจากสิ่งใด สิ่งหนึ่ง. ส่วนทางศาสนาหมายถึง การงดเว้นจากการกิน การดื่ม และการร่วมสังวาสในเวลากลางวันตั้งแต่เริ่มรุ่งอรุณจนกระทั่งถึงเวลาดวงอาทิตย์ตกโดยมีเจตนา (نية) ที่ชัดเจนเพื่อ อิบาดะฮฺ (ภักดี) ต่ออัลลอฮฺ  .
2. ปวงมุสลิมทั้งหลายถือว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน (คือเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม) เป็นหน้าที่จำเป็น (ฟัรฎู) เหนือประชาชาติ. ดังหลักฐานจากโองการ อัล-กุรอาน ที่อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ : ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายการถือศีลอด ได้ถูกบัญญัติแก่สูเจ้า เช่นที่เคยถูกบัญญัติแก่บรรดาผู้มาก่อนสูเจ้า แล้วเพื่อสูเจ้าจะได้มีความยำเกรง" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ :183)
และจากหะดีษของท่านรอซูล  ความว่า "อัล-อิสลามถูกวางไว้บนรากฐาน 5 ประการ คือ
1.) การปฏิญานตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ  และว่ามุฮัมมัด  เป็นรอซูลของพระองค์
2.) การดำรงไว้ซึ่งละหมาด
3.) การจ่ายซะกาต
4.) การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
5.) การไปบำเพ็ญฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ"
ในเมื่อการถือศีลอด เป็นรากฐานหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเช่นนี้ ดังนั้นหากผู้ใดละเมิดหรือฝ่าฝืนจงใจละทิ้งการถือศีลอดโดยไม่มีเหตุจำเป็นตามที่ศาสนาผ่อนผันแล้ว แน่นอนเท่ากับเขาผู้นั้นได้กระทำบาปอันยิ่งใหญ่. ดังที่ท่านรอซูล  ได้เล่าถึงสภาพอันเลวร้ายที่ท่านได้พบเห็นในเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า "จนขณะที่ฉันขึ้นสูงเทียมยอดเขานั้น ทันใดนั้นฉันก็ได้ยินเสียงหนึ่งดังมากฉันจึงถาม (บรรดามะลาอิกะฮฺ) ว่า "นี้คือเสียงอะไร?" พวกเขาตอบว่า "นี่แหละคือเสียงครวญคราง ของชาวนรก" ต่อมาฉันก็ถูกพาไปแล้วก็ (เห็นภาพ) ของคนกลุ่มหนึ่งในสภาพถูกร้อยเชือกที่เอ็นร้อยหวาย กระพุ้งแก้มของพวกเขาถูกเจาะ เลือดไหลทะลักออกมาตลอดเวลา ฉัน (รอซูล) ถามอีกว่า "พวกเขาเหล่านี้เป็นใครหรือ?" มีคำตอบว่า "พวกเขาคือบรรดาผู้ที่กินอาหารก่อนที่จะได้เวลาให้ละศีลอด"
ท่านอัล-หาฟิซ อัล-ซะฮะบีย์ (เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า "อุละมาอ์บางท่านยืนยันอย่างหนักแน่นในกรณีของบุคคล ที่จงใจละทิ้งการละศีลอด ในเดือนรอมฎอนโดยไม่มีเหตุอันควรว่า ผู้นั้นเลวยิ่งกว่าผู้ที่ทำซินา (ผิดประเวณี) และผู้ที่เสพสุราเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้นสภาพการเป็นมุสลิมของเขานั้นเป็นที่กังขา (ว่าเขายังเป็นมุสลิมอยู่หรือไม่) และบางทัศนะก็กล่าวว่า เขาเป็นบุคคลที่นอกศาสนาหรือออกนอกแนวทางไปแล้ว " ซึ่งท่าน ซัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) ตัดสิน (ฟัตวา) ว่า "หากเขาไม่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนโดยยืนกรานว่าการถือศีลอดนั้นไม่จำเป็น ทั้ง ๆ ที่เขาทราบดีถึงโทษทัณฑ์ของการกล่าวเช่นนั้น คือการประหารชีวิต หรือฆ่าเสีย (เพราะถือว่าผู้นั้นตกมุรตัด) แต่หากเขาเพียงแต่ละเมิด (ฟาซิก) ก็ให้ลงโทษตามกฎของรอมฎอน"
3. คุณค่าของการถือศีลอดนั้นยิ่งใหญ่ดังมีกล่าวในหะดีษต่าง ๆ มากมายที่ระบุถึงความประเสริฐหรือผลบุญที่ผู้ถือศีลอดจะได้รับ เช่น
"งาน (อะมัล) ทุกอย่าง เป็นของมนุษย์เว้นแต่การถือศีลอดแท้จริงมันเป็น ของข้า (อัลลอฮฺ) และข้าจะเป็นผู้ตอบแทนมัน ด้วยตัวข้าเอง"
"การถือศีลอดไม่มีสิ่งใดเท่าเทียม"
"การวิงวอนขอ (ดุอาอ์) ของผู้ถือศีลอดจะไม่ถูกปฎิเสธ"
"สำหรับผู้ถือศีลอด เขาจะได้รับความปิติยินดี 2 ครั้งด้วยกัน คือเมื่อเขาได้ถือศีลอด (ในดุนยา) เขามีความปิติยินดีในการละศีลอดของเขา และขณะที่เขาพบกับพระผู้อภิบาลของเขา (ในอาคิเราะฮฺ) เขาก็จะปิติยินดีใน (รางวัลของ) การถือศีลอดของเขา"
"แท้จริงสำหรับผู้ที่ถือศีลอดนั้น เขามีสิทธิที่จะช่วยไถ่โทษ (ชะฟาอะฮฺ) ให้บ่าว (พี่น้องมุสลิม) ในวันกิยามะฮฺ"
"แท้จริงกลิ่นปากของผู้ถือศีลอด ณ อัลลอฮฺ  นั้นหอมยิ่งกว่ากลิ่นชะมดเชียง"
"การถือศีลอดเป็นโล่และป้อมปราการที่มั่นคงกั้นไฟนรก"
"ผู้ใดถือศีลอดหนึ่งวันในหนทางของอัลลอฮฺ  ด้วย วันนั้นอัลลอฮฺจะทรงให้ใบหน้าของเขาห่างจากไฟนรกเจ็ดสิบปี"
"ผู้ใดถือศีลอดหนึ่งวันด้วยแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ  แล้วเขาจบชีวิตด้วยการนั้นเขาจะได้เข้าสวรรค์"
"แท้จริง ในสวนสวรรค์นั้นมีประตูหนึ่ง มีชื่อว่า "อัรรอยยาน" เป็นประตูทางเข้าของบรรดาผู้ถือศีลอดไม่มีใครสามารถเข้าทางนั้นได้นอกจากพวกเขา ดังนั้นในเมื่อพวกเขาเข้าไปหมดแล้วจะไม่มีผู้ใดเข้าไปอีก"
การถือศีลอดเดือนรอมฎอน เป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของหลักการอิสลาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในเดือนนั้น โองการอัล-กุรอานได้ถูกประทางลงมา ครั้งแรกแก่มนุษย์ชาติในคืน "ลัยละ ตุลก๊อดร์" ซึ่งมีความประเสริฐยิ่งกว่าเดือนอื่น ๆ ถึง 1,000 เดือน ในช่วงรอมฎอน ประตูแห่งความเมตตาทั้งหลายจะถูกเปิดออก ในขณะที่ประตูทั้งหลายของนรกจะถูกปิดลงและบรรดามารร้ายหรือญิน ผู้ดื้อรั้นจะถูกพันธนาการไว้ "การถือศีลอดในรอมฎอนเท่ากับการถือศีลอดในเดือนอื่น ๆ 10 เดือน"
ท่านรอซูล  ยังกล่าวอีกว่า "ผู้ใดถือศีลอดในเดือนรอมฎอนโดยการศรัทธา และมุ่งหวังต่อการตอบแทนจากอัลลอฮฺอย่างจริงจัง บาปที่เขาเคยกระทำมาก่อนหน้านั้นจะได้รับการอภัยโทษ" "และเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ  ที่จะปลดปล่อยชาวนรกในทุก ๆ ครั้งของการละศีลอด"
4. ในการถือศีลอดนั้นมีวิทยปัญญา (حكمة) และประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย เป็นต้นว่าการถือศีลอดเป็นสื่อที่นำไปสู่ความรู้สึกยำเกรง (ตักวา) ต่ออัลลอฮฺ  เพราะในเมื่อเราสามารถยับยั้งอารมณ์หรือจิตจากสิ่งที่หะลาลได้ด้วยปรารถนาในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ และการลงโทษของพระองค์ ดังนั้น ย่อมเป็นการง่ายดายเหลือเกินที่เขาจะละเว้น หรือยับยั้งตนเองจากสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นของหะรอมทั้งหลาย ทั้งนี้ ในธรรมชาติของมนุษย์แล้ว คราใดก็ตามที่ท้องของเขาว่างเปล่า ความหิวจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายให้อ่อนกำลัง และเมื่อใดที่ท้องอิ่ม ความอยากหรือความต้องการทางอวัยวะส่วนอื่น เช่น ลิ้น สายตา มือ และอารมณ์เพศ ก็จะปรากฏขึ้นมา ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การถือศีลอดนี้แหละ คือวิธีการหนึ่งที่สามารถข่มเอาชนะ อารมณ์แห่งชัยฏอน ความรู้สึกทางเพศ และปกป้องรักษาอวัยวะต่าง ๆ มิให้กระทำสิ่งที่ชั่วช้าทั้งหลาย เพราะความยำเกรง "ตักวา" ในส่วนลึกที่แท้จริงเท่านั้นที่สามารถควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ให้ดำเนินอยู่ในครรลองได้ เมื่อผู้ที่ถือศีลอด ได้ลิ้มรสความเจ็บปวดของความหิวกระหาย เขาย่อมเข้าใจในสภาพความต้องการและรู้สึกของคนจนผู้ยากไร้ได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดจิตใจเมตตา สงสาร และช่วยเหลือแบ่งปันเพื่อขจัดความหิวโหยของพวกเขา เพราะแน่นอนสิ่งที่รับการบอกเล่ามาจากผู้อื่นนั้น ย่อมไม่ลึกซึ้งเท่ากับการที่ได้สัมผัสกับความทุกข์ยาก ด้วยตนเองประดุจดังคนที่ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่อาจเข้าใจความยากลำบากของคนเดินเท้าได้ นอกจากจะต้องลองเดินดูบ้าง การถือศีลอด ช่วยอบรมบ่มนิสัย พัฒนาเจตนารมณ์ของการห่างไกลจากอารมณ์ใฝ่ต่ำ และความชั่วในนั้นเป็นการบังคับนิสัยและขจัดอารมณ์จากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย และในนั้นเป็นการประกาศเอกภาพของประชาคมมุสลิม ด้วยการที่ประชาคมมุสลิมต่างถือศีลอดและออกจากการถือศีลอดในเดือนเดียวกัน
5. มารยาทของการถือศีลอดและซุนนะฮฺต่าง ๆ
ก. ส่งเสริมให้รับประทานอาหารสะหูรในช่วงใกล้เวลารุ่งอรุณขึ้น ท่านรอซูล กล่าวว่า "พวกท่านจงรับประทานอาหารสะหูรกันเถิด แท้จริงในการรับประทานอาหารสะหูรนั้นมีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ)" หะดีษหนึ่งระบุว่า "ความแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของพวกเรา (มุสลิม) กับการถือศีลอดของชาวอะหฺลุลกิตาบ (ยิวและคริสเตียน) นั้นคือการรับประทานอาหารสะหูร และสะหูรที่ดีที่สุดสำหรับคนมุอฺมิน (ผู้ศรัทธา) คือ อินทผาลัม"
ข. ส่งเสริมให้รีบละศีลอดเมื่อได้เวลา ท่านรอซูล  กล่าวว่า "ผู้คน (ที่ถือศีลอด) จะยังคงอยู่ในความดี ตราบใดที่พวกเขารีบเร่งละศีลอด (เมื่อได้เวลา)
ในหะดีษหนึ่งรายงานจากท่านอนัส  กล่าวถึงรูปแบบการละศีลอดของท่านรอซูล ว่า "ท่านนบี เคยละศีลอดก่อนที่จะนมาซ (มัฆริบ) ด้วยผลรุฏ็อบ (อินทผาลัมสด) หากไม่มีผลรุฏ็อบ ท่านก็ละศีลอดด้วย ผลตะมัร (อินทผาลัมแห้ง) แต่หากไม่มีแม้ผลตะมัร ท่านก็จะดื่มน้ำเปล่าแทน"
สำหรับดุอาอฺที่ท่านรอซูล เคยอ่านตอนละศีลอดนั้นมีหลายรายงานด้วยแต่ที่มีหลักฐานแข็งแรงที่สุดคือ "ความกระหายนั้นได้มลายไปเส้นเลือดทั้งหลายก็ชุ่มฉ่ำ และรางวัลก็มีแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ"
ค. หลีกห่างจากการพูดจาเกี้ยวพาราสี โกหก หรือหยาบโลน ดังหะดีษของท่านรอซูล ที่ห้ามเอาไว้ว่า "หากวันใดที่พวกท่านถือศีลอดอยู่ ดังนั้นจงอย่าได้กระทำความชั่ว" และหะดีษที่ว่า "ผู้ใดไม่ละเว้นจากการกล่าวเท็จและการกระทำที่เป็นสิ่งมดเท็จ (ไร้สาระ) อัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์อันใดในการละเว้นอาหารและเครื่องดื่มของเขา"
ดังนั้นบุคคลที่ถือศีลอด จึงควรห่างไกลจากสิ่งที่ต้องห้ามทั้งหลาย เป็นต้นว่า การนินทา การพูดจาหยาบคาย การโกหก เพราะมันอาจทำให้รางวัลการตอบแทนจาก การถือศีลอดของเขา นั้นมลายไปสิ้น ดังที่ท่านนบี  กล่าว มีความว่า "บางทีคนที่ถือศีลอดคนหนึ่งอาจจะไม่ได้รับอะไรเลยจากศีลอดของเขา นอกจากความหิวเท่านั้น"
ง. หลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท ดังหะดีษที่ว่า "ดังนั้น ถ้าหากผู้ใดมาด่าทอหรือชวนทะเลาะวิวาทกับท่านก็จงกล่าวแก่เขาว่า "แท้จริงฉันกำลังถือศีลอดอยู่ แท้จริงฉันกำลังถือศีลอดอยู่..." (ครั้งแรกเป็นการเตือนตนเอง ครั้งที่สองเป็นการเตือนคู่กรณี)
จ. หลีกเลี่ยงการจัดเตรียมอาหารมากมาย ฟุ่มเฟือย ดังหะดีษที่ว่า "ไม่มีภาชนะอันใดที่ลูกหลานอาดัม (มนุษย์) บรรจุไป ชั่วร้ายยิ่งกว่ากระเพาะอาหาร"
ฉ. ส่งเสริมให้จุนเจือเผื่อแผ่ในเรื่องความรู้ ทรัพย์สิน ตำแหน่ง หน้าที่ กำลังกาย จริยธรรมต่าง ๆ ให้มากเป็นพิเศษในช่วงรอมฎอน ดังหะดีษหนึ่งรายงานจากท่านอิบนุอับบาส รอฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า "ท่านรอซูล นั้นเป็นบุคคลที่จิตใจเผื่อแผ่ที่สุด โดยเฉพาะท่านจะใจดีเป็นพิเศษในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงที่มะลาอิกะฮฺญิบรีลได้ลงมาพบท่านในทุกค่ำคืนของเดือนรอมฎอน เพื่อทบทวนอัล-กุรอาน ให้แก่ท่านรอซูล นั้นมีความใจบุญในกุศลทางยิ่งกว่า ลมโชย (ที่ยังความร่มรื่นแก่ผู้คนในยามเย็น เสียอีก)"
การบริจาคอาหาร ช่วยเหลือผู้อดอยาก หิวโหย หรือเลี้ยงอาหารละศีลอดในขณะที่ผู้บริจาคเองถือศีลอดอยู่ด้วย ก็ยิ่งนับเป็นความดีอันยิ่งใหญ่ และเป็นสาเหตุหนึ่งแห่งการได้เข้าสู่สวรรค์ ดังหะดีษหนึ่งของท่านรอซูล ที่กล่าวว่า "แท้จริงในสวนสวรรค์นั้นมีบรรดาห้องอยู่จำนวนหนึ่ง (ที่มีความใสบริสุทธิ์เช่นแก้ว) ซึ่งสามารถมองเห็นจากภายนอกถึงภายใน และจากภายในถึงยังภายนอก อัลลอฮฺได้ทรงตระเตรียมมันเอาไว้แก่ผู้ที่ให้อาหาร พูดจาอ่อนโยน ถือศีลอด อย่างต่อเนื่อง และนมาซ (ตะฮัจญุด) ยามค่ำคืน ขณะที่ผู้คนทั้งหลายกำลังนอนหลับ"
หะดีษหนึ่งที่ระบุว่า "บุคคลใดให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอด เขาย่อมได้รับรางวัล (ผลบุญ) เช่นผู้ที่ถือศีลได้รับโดยไม่มีการลดหย่อนแม้แต่เล็กน้อย" ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุต็อยมียะฮฺ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า "การให้อาหารละศีลอดแก่เขา หมายถึง การให้เขาทานจนอิ่ม"
ช. มุสลิมอาจแสดงความยินดีกับการเข้าสู่เดือนรอมฎอนได้ ดังที่ท่านนบี เคยแจ้งข่าวดีแก่เหล่าสาวกของท่านถึงการมาของรอมฎอน ดังหะดีษที่เล่าโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านรอซูลลุลลอฮฺ กล่าวว่า "รอมฎอนอันจำเริญได้มีมายังพวกท่านแล้ว อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้พวกท่านถือศีลอดประตูทั้งหลายของสวรรค์ถูกเปิด ประตูทั้งหลายของนรกถูกปิดเหล่ามารนร้ายที่ดื้อรั้นถูกพันธนาการ ในเดือนนี้มีคืนหนึ่งที่ดีกว่าพันเดือน ผู้ใดที่ไม่ได้รับความดีในคืนนั้น ดังนั้นเขาจะไม่ได้รับความดี"
6. ประเภทที่จำเป็นต้องถือศีลอดติดต่อกัน เช่น การถือศีลอดในรอมฎอน การถือศีลอดเป็นค่าปรับ กรณีฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา (คือ 2 เดือนติดต่อกัน) การถือศีลอดเนื่องจากการหย่าแบบซิฮาร การถือศีลอดเพื่อเป็นค่าปรับกรณีร่วมประเวณีในตอนกลางวันของรอมฎอน และการถือศีลอดเนื่องจากการบนบานซึ่งระบุการติดต่ออยู่ในการบนบานนั้นด้วย
ประเภทต่อมา ก็คือไม่จำเป็นต้องถือในวันที่ติดต่อกัน เช่นการถือศีลอดชดใช้ของรอมฎอน การถือศีลอด 10 วัน ของผู้ทำฮัจญ์ ที่ไม่เชือดสัตว์ การถือศีลอดเนื่องจากการละเมิด คำสาบานที่ไม่ได้ระบุเงื่อนไข และการถือศีลอดเนื่องจากละเมิดข้อห้ามขณะครองอิหฺรอม เป็นต้น.
7. ประเภทต่อมาก็คือ การถือศีลอดที่เป็นความสมัครใจ (ซุนนะฮฺต่าง ๆ ) เช่น ศีลอดในวันจันทร์และพฤหัสบดี และทุกวันที่ 13,14 และ 15 ของเดือน ศีลอดวันอาซูรออฺ ศีลอดวันอะรอฟะฮฺ ศีลอด 7 วันในเดือนเชาวาล และศีลอดในช่วงเดือน มุหัรรอมและเดือนชะอฺบาน ซึ่งท่านนบี มักถือหลายวันด้วยกัน.
8. วันที่หลักฐานห้ามถือศีลอดก็คือ เช่น กรณีการเจาะจงถือศีลอดเฉพาะวันศุกร์ หรือวันเสาร์เพียงวันเดียว โดยไม่มีเหตุผลที่ศาสนาอนุโลม การถือศีลอดทุกวันตลอดชีวิต การถือศีลอดที่ถือติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันโดยที่ไม่ยอมละศีลอด หรือทานอาหารใด ๆ เลยระหว่างนั้น ศีลอดในวันอีดทั้ง 2 และการถือศีลอดในวันตัชรีก (คือวันที่ 11, 12, 13 ของเดือนซุลหิจญะฮฺ)
9. ตามหลักการที่ถูกต้องแล้ว เกณฑ์ที่เอามาใช้เพื่อยืนยันว่าเดือนรอมฎอนของแต่ละปีจะเริ่มต้นเมื่อไรนั้น ให้ถือตามแนวทางที่กำหนดไว้จากซุนนะฮฺก็คือ ด้วยการเห็นเดือน หรือหากท้องฟ้ามืดครึ้มมิสามารถมองเห็นเดือนได้สะดวกก็ให้ใช้วิธีนับเดือนก่อนหน้านั้นคือ เดือน "ชะอฺบาน" ให้ครบ 30 วัน แล้วถือเอาวันหลังจากนั้นเป็นวันเริ่มต้นของเดือนรอมฎอน
10. การถือศีลอดจำเป็นสำหรับมุสลิมและมุสลิมะฮฺผู้มีอายุบรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะ มีสุขภาพดี มิได้เป็นคนเดินทาง และไม่มีรอบเดือน (หัยฎ์) หรือเลือดหลังการคลอดบุตร (นิฟาส)
เกณฑ์ของอายุที่บรรลุศาสนภาวะกำหนดได้โดย 3 ประการด้วยกันคือ
- เริ่มมีความรู้สึกทางเพศหรือฝันเปียก
- มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ
- อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ หรือในกรณีที่เป็นผู้หญิงเมื่อมีรอบเดือน.
11. กรณีของเด็กเล็ก ศาสนาส่งเสริมให้ฝึกฝนให้ถือศีลอดตั้งแต่อายุ 7 ขวบ หากเด็กมีความสามารถและให้พยายามกำชับให้เขาถือศีลอดเมื่ออายุครบ 10 ขวบ เช่นเดียวกับการนมาซ เด็กจะได้ผลบุญในการถือศีลอดนั้น ในขณะที่พ่อแม่ก็จะได้รับผลบุญจากการอบรมสั่งสอนเขาด้วยเช่นกัน ดังมีรายงานหนึ่งจากอัน-เราะบิอฺ บินตุมุเอาวิซ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ โดยนางได้กล่าวถึงการถือศีลอดในวันอาชูรออฺ ภายหลังจากบัญญัติอันนี้ได้มีขึ้นว่า "พวกเราเคยฝึกฝนให้เด็ก ๆ ของเราถือศีลอด เมื่อพวกเขาร้องหิวอาหาร เราก็ประดิษฐ์ของเล่นทำจากขนสัตว์ ให้พวกเขาเล่น (เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจที่จะร้องขออาหาร) จนทั่งได้เวลาละศีลอด".
12. ในกรณีคนต่างศาสนิก (กาฟิร) เข้ารับอิสลาม หรือเมื่อเด็กอายุครบศาสนภาวะ หรือเมื่อผู้ที่เป็นลม หมดสติฟื้นขึ้นมาเป็นปกติในช่วงใดของกลางวันของรอมฎอน ถือว่าเขาต้องทำการถือศีลอดตั้งแต่เวลานั้นทันที และไม่ต้องชดใช้ในวันก่อนหน้านั้น
13. สำหรับประเด็นของคนบ้า หรือวิกลจริตนั้น ไม่มีความผิดใด ๆ ที่ไม่ถือศีลอด แต่ในกรณีการบ้าแบบชั่วครั้งชั่วคราวให้ถือศีลอดในช่วงที่หายจากอาการวิกลจริต ในช่วงที่เขามีอาการบ้านั้นก็ไม่ต้องถือศีลอดเช่น คนที่ตอนเช้าถือศีลอดอยู่แต่ตกเที่ยงเป็นบ้า ดังนั้นหากหายเป็นปกติเมื่อใดก็ให้ถือต่อในวันนั้นได้เลย โดยไม่ถือว่าศีลอดของเขาก่อนหน้านั้นเสียไป เช่นเดียวกับกรณีของคนเป็นลม หรือหมดสติให้เขาถือศีลอดต่อได้เมื่อเขาฟื้นขึ้นมาเป็นปกติ เพราะเขาได้ตั้งเจตนาในขณะที่เขามีสติสัมปชัญญะอยู่
14. ในกรณีของผู้ที่เสียชีวิตลงในระหว่างเดือนรอมฎอน ตามหลักฐานที่ชัดเจนแล้วไม่ถือว่าผู้ตายนั้นมีภาระติดค้างในศีลอดของวันที่เหลืออยู่ และญาติของผู้ตายก็ไม่จำเป็นต้องชดใช้แต่อย่างใด
ส่วนในหะดีษที่ว่า "ผู้ใดตายลง และเขายังมีศีลอดติดค้างอยู่ วะลีของเขาถือศีลอดแทน" บรรดานักวิชาการหะดีษ อธิบายว่าการถือศีลอดในหะดีษนี้หมายถึงการถือศีลอดเนื่องจากการบนบานไม่ใช่การถือศีลอดรอมฎอน
15. ในกรณีของการขาดศีลอด หรือการร่วมประเวณีโดยสาเหตุจากการไม่รู้หรือไม่เข้าใจ (ญาฮิล) ต่อบทบัญญัติศาสนาข้อนี้ ในทัศนะของบรรดาอุละมาอฺส่วนใหญ่ (Jumhur) เห็นว่าไม่ถือเป็นความผิดสำหรับบุคคลที่เพิ่งเข้ารับนับถืออิสลามใหม่ ๆ หรือคนมุสลิมที่เติบโตมาท่ามกลางสังคมคนต่างศาสนิกล้วน ๆ ไม่มีโอกาสรับทราบ หรือรู้เกี่ยวกับอิสลามเลย
ส่วนบุคคลที่มีโอกาสเรียนรู้ศาสนาและสังคมอยู่กับพี่น้องมุสลิมด้วยกัน แต่ไม่สนใจ ไม่ทราบและไม่ถือศีลอดย่อมถือว่ามีความผิดอย่างแน่นอน
16. การเดินทางที่ถูกอนุโลมให้ละศีลอดได้นั้นมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ
ก. ต้องเป็นการเดินทางในระยะที่ไกลตามหลักการศาสนา หรือเรียกได้ว่าเป็นการเดินทาง
ข. ต้องเลยเขตเมือง ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตน หรือพ้นจากอาคารบ้านเรือนของเมืองนั้น
ค. ต้องเป็นการเดินทางเพื่อการงานที่ดี ไม่ใช่เพื่อทำสิ่งที่เป็นความชั่ว (มะอฺศิยะฮฺ)
ง. ต้องเป็นการเดินทางที่มีความจำเป็น มิใช่เป็นการเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงจากการถือศีลอด
17. บุคคลที่อยู่ในเงื่อนไขของการเดินทางข้างต้น ตามหลักการและมติของอุละมาอฺทั้งหลายถือว่าเขาได้รับการอนุโลมให้ละศีลอดได้ ไม่ว่าเขาจะสามารถถือได้หรือไม่หรือการเดินทางนั้นจะลำบากหรือสะดวกสบายเช่นเดินทางในร่มบนพื้นน้ำและมีคนคอยรับใช้ก็ตาม ในขณะเดียวกันเขาก็สามารถนมาซย่อได้
18. และกรณีที่ชายคนหนึ่งตั้งใจว่าในเดือนรอมฎอน เขาจะเดินทาง ก่อนที่จะออกจากบ้านตามกำหนด เวลาเดินทางคือตอนบ่าย ตลอดเวลาตั้งแต่เช้ามาจนถึงเที่ยงเขาจะละศีลอดของเขาในวันนั้นยังไม่ได้ เพราะบางทีอาจเกิดอุปสรรคหนึ่ง จนทำให้เขาต้องพลาดการเดินทางในวันนั้นก็ได้
19. กรณีของผู้เดินทางระยะสั้น (ซึ่งมิอยู่ในเงื่อนไขของคนเดินทาง) โดยเครื่องบินซึ่งกำลังบินอยู่เหนือฟ้า ถึงแม้นเวลาตามนาฬิกาจะถึงเวลาละศีลอดแล้วก็ตาม เขาก็ยังคงละศีลอดมิได้หากตำแหน่งที่เขาอยู่นั้นยังเห็นแสงอาทิตย์อยู่ ทั้งนี้เพราะตามหลักการแล้วย่อมถือการเห็นดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นเกณฑ์สำคัญ
20. ผู้เดินทางที่ถึงยังเป้าหมายแล้ว และมีความตั้งใจจะอาศัยอยู่ในเมือง ๆ นั้นมากกว่า 4 วัน ในทัศนะของนักวิชาการศาสนาและอุละมาอฺส่วนใหญ่เห็นว่า บุคคลนั้นอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับ "มุกีม" (คนที่ไม่ได้เดินทาง) คือต้องถือศีลอด แต่ถ้าหากมิมั่นใจว่าจะอยู่มากกว่า 4 วันก็อนุโลมให้ละศีลอดได้ อทิเช่น กรณีของบุคคลที่เดินทางไปเรียนหนังสือยังต่างประเทศเป็นเวลาหลายเดือน หรือหลายปี มติของอุละมาอฺ (ญุมหูร) รวมทั้งมัซฮับทั้ง 4 เห็นว่าบุคคลนั้นอยู่ในสภาพของ "มุกีม" แล้วซึ่งจำเป็นต้องถือศีลอดและนมาซเต็ม
21. บุคคลใดถือศีลอดอยู่และจำเป็นต้องออกเดินทางในตอนกลางวันของวันเดียวกันก็อนุโลมให้เขาละศีลอดได้ ทั้งนี้ เพราะถือว่าเขาอยู่ในกรณีของผู้ได้รับอนุโลมเนื่องจากการเดินทางนั้นเอง ดังเจตนารมณ์ของซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 185 ความว่า "และผู้ใดป่วย หรืออยู่ในการเดินทางก็จงถือใช้วันอื่น" ข้างต้นนี้ คือทัศนะของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ และบรรดานักนิติศาสตร์ (ฟุเกาะฮาฮฺ) ทั่วไป
22. เป็นที่อนุโลมให้ละศีลอด สำหรับผู้ที่เดินทางเป็นประจำ และมีเมืองที่เขาไปพำนัก ต้องถือเช่นบุรุษไปรษณีย์ที่ต้องเดินทางเพื่องานบริการประชาชน (การขับรถรับจ้าง หรือนักบิน แม้ว่าเขาต้องเดินทางเป็นประจำทุก ๆ วัน แต่เขาก็ต้องถือศีลอดชดเชย) ในทำนองเดียวกับ ชาวประมงที่ออกทะเล โดยที่มีที่อยู่บนบก ส่วนผู้ที่มีเรือและในเรือมีภรรยากับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบถ้วนและต้องเดินทางนั้นจะละการถือศีลอดหรือนมาซย่อไม่ได้ ส่วนชาวทะเลทรายที่เลี้ยงสัตว์ตรงกับฤดูกาลถือศีลอด ก็ให้ละศีลอดและนมาซย่อได้ แต่หากเขาได้หยุดพักเป็นฤดูกาล ณ สถานที่หนึ่งที่ตรงกับช่วงถือศีลอดเขาจะละศีลอดหรือนมาซย่อไม่ได้ แม้ว่าในระหว่างนั้นจะยังคงต้อนสัตว์ก็ตาม เมื่อผู้เดินทางเดินทางกลับถึงภูมิลำเนาในช่วงกลางวัน นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันออกไป เกี่ยวกับว่าเขาต้องงดการกินการดื่ม เพื่อให้เกียรติต่อเดือนรอมฎอน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องถือศีลอดชดเชยอยู่ แล้วไม่ว่าเขาจะงดเว้นจากการกินและการดื่มหรือไม่ก็ตาม
23. กรณีของบุคคลที่กลับจากการเดินทางและถึงบ้านในตอนกลางวันของเดือนรอมฎอน ผู้นั้นต้องถือศีลอดในช่วงเวลาที่เหลือของวันนั้นหรือไม่ ? กรณีนี้บรรดาอุละมาอฺต่างก็เห็นแตกต่างกัน ส่วนทัศนะที่ค่อนข้างถูกต้องที่สุดคือ เห็นว่าไม่ควรกินหรือดื่มในเวลาที่เหลืออยู่นั้น เพื่อแสดงการให้เกียรติต่อข้อห้ามของเดือนอันศักสิทธิ์ แต่อย่างใดก็ตามเขาก็จำเป็นต้องถือใช้ (กอฎอ) อีกครั้งในวันอื่น ถึงแม้เข้าจะไม่กินอาหารในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นั้นก็ตาม
24. ในกรณีที่บุคคลหนึ่งได้เริ่มถือศีลอดพร้อมกับผู้คนที่อยู่ในประเทศของเขา และต่อมาเขาก็ได้ออกเดินทางไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งที่นั่นได้เริ่มถือศีลอดในวันที่ไม่พร้อมกันคือ ถือก่อนหรือหลังประเทศของเขา ในกรณีเช่นนี้ให้เขาถือหลักหรือหุกมของผู้เดินทางทันที คือหากเดินทางไปอยู่ในประเทศใดก็ให้ละศีลอดหรือออกบวชตามประเทศนั้นเท่านั้น ถึงแม้นการถือศีลอดของเขาจะเกิน 30 วันไปก็ตาม ดังหลักฐานจากหะดีษ ความว่า "การถือศีลอดคือ วันที่พวกเขา (คนพื้นเมือง) ถือ และการละ (หรือออกบวช) ก็คือวันที่พวกเขาละเช่นกัน" แต่ถ้าหากจำนวนวันที่ถือศีลอดไปแล้วของเขาน้อยกว่า 29 วัน ก็ให้เขาถือศีลอดชดเชยให้ครบหลังจากวันอีดไปแล้ว คือให้ครบ 29 วัน เพราะเดือนตามฮิจญ์เราะฮฺ ศักราชจะมีไม่น้อยกว่า 29 วัน
25. ทุก ๆ อาการป่วยหรือไม่สบาย ที่บั่นทอนสุขภาพของคนเราให้อ่อนแอนั้น เป็นที่อนุโลมให้ละศีลอด หรือมิต้องถือในช่วงนั้นได้ ตามหลักฐานโองการอัล-กุรอานที่มีความหมายว่า "และผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงใช้ในวันอื่น" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ :185)
ดังนั้น ศาสนาจึงอนุโลมให้ละศีลอดหรือไม่ต้องถือในกรณีของการเจ็บป่วยที่อาการจะกำเริบหรือมีผล ทำให้อาการทุเลาจากโรคยืดเยื้อออกไปหากถือศีลอด ส่วนการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือโรคที่การถือศีลอดมิส่งผลเสียแก่อาการของผู้ป่วยก็ไม่เป็นที่อนุญาตให้ละศีลอด
ท่านอบูหะนีฟะฮฺ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า "หากผู้ที่ถือศีลอดอยู่มีความวิตกว่าอาการเจ็บป่วยของตนเองจะแย่ลง เช่น อาการเจ็บตาจะกำเริบมากขึ้นหรือทำให้อุณหภูมิของไข้สูงขึ้นก็อนุโลมให้ละศีลอดได้"
หากเริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อยในเวลากลางคืนผู้ป่วยจะต้องไม่มีเจตนาว่าจะละศีลอดในเวลากลางวัน เพราะอาจจะเป็นไปได้ว่าเขาหายป่วยเมื่อตื่นเช้าขึ้นมา และหลักการอิสลามก็ถือเอาสภาพที่เป็นอยู่เป็นสำคัญ
26. หากมีอาการเป็นลม เนื่องจากสาเหตุการถือศีลอด ก็อนุโลมให้ละศีลอดและถือชดใช้ในวันอื่น และถ้าเป็นลมหมดสติในช่วงกลางวันขณะที่ถือศีลอดอยู่ ต่อมารู้สึกหรือฟื้นขึ้นมาในเวลาก่อนตะวันตกหรือเวลาหลังจากนั้นก็ตาม ถือว่าศีลอดของเขานั้นใช้ได้ (เศาะฮฺ) แต่หากเขาเป็นลมหมดสติยาวนานตั้งแต่เวลาฟัจญ์ (รุ่งอรุณ) จนกระทั่งถึงเวลามัฆริบ ตามทัศนะของอุละมาอฺ ส่วนใหญ่ (ญุมหูร) แล้วถือว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้ (ไม่เศาะฮฺ)
สำหรับผู้เป็นลมหมดสติขั้นอาการหนัก (โคม่า) หรือผู้ป่วยคนนั้น ถูกให้ยานอนหลับ ทั้งนี้เพื่อเป็นผลดีแก่ผู้ป่วย จนกระทั่งเขาอยู่ในสภาพที่ไม่มีความรู้สึก ซึ่งถ้าหากนานไม่เกิน 3 วัน ต้องถือชดใช้ แต่ถ้าเกิน 3 วันขึ้นไป ย่อมถือว่าอยู่ในหลักการเดียวกับ "คนวิกลจริต หรือคนบ้า" คือไม่ต้องถือชดใช้
27. บุคคลที่ถือศีลอดแล้วทำให้เกิดอาการรู้สึกหิว และกระหายอย่างรุนแรง ทั้งนี้เนื่องจากสุขภาพ ไม่ดีหรือมีโรคประจำตัว ซึ่งหากขืนถือศีลอดต่อไปในวันนั้น แพทย์บอกว่าอาจเกิดอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ กรณีเช่นนี้เป็นที่อนุโลมให้ละศีลอด หรือไม่ต้องถือศีลอดได้ เพราะการรักษาไว้ซึ่งชีวิตนั้นย่อมเป็นสิ่งจำเป็น
สำหรับกรณีของผู้ทีมีอาชีพเป็นกรรมกรแบกหาม หรือทำงานหนัก หากไม่มีสาเหตุที่สุดวิสัย จริง ๆ ก็ไม่อนุโลมให้ละศีลอด แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานหนักมาก ๆ และไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือหางานอื่นที่เบากว่าทำได้ โดยที่การถือศีลอดในตอนกลางวันก็จะทำให้ไม่สามารถทำงานเพื่อหาปัจจัยเลี้ยงดูครอบครัวได้ ก็อนุโลมให้ละศีลอด โดยไปถือชดใช้ในวันอื่นแทนตามจำนวนวันที่ขาดไป
28. ส่วนบุคคลที่ป่วยและคาดหวังว่าจะหายภายในเร็ววัน อนุโลมให้ถือศีลอดชดใช้ในวันอื่นได้ แต่ไม่อนุโลมให้จ่ายฟิตยะฮฺ สำหรับผู้ที่ป่วยเรื้อรังอาการหนัก และโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดนั้นก็ช่างยากเย็นเต็มที กรณีเช่นนี้ ทำนองเดียวกันกับกรณีของคนชราสูงอายุ ซึ่งไม่สามารถอดอาหารได้และต้องทานยาอยู่เป็นบ่อย ๆ ให้เขาเลี้ยงอาหารแก่คนยากจนวันละคนด้วยอาหาร จำนวนครึ่งศออฺ (ประมาณ 1.5 กก.) จากชนิดอาหารที่ใช้ทานในประเทศนั้น ๆ เช่น ข้าวหรือ แป้งสาลี ตามจำนวนวันที่ขาด และกรณีของผู้ที่ถือศีลอด ไม่ได้เลยตลอดทั้งเดือน ลักษณะของการเลี้ยงอาหารคนยากจนนั้น เขาประสงค์จะเลี้ยงตั้งแต่ต้นเดือน กลางเดือน หรือปลายเดือน ในลักษณะของการเลี้ยงวันละคน หรือพร้อมกันหลาย ๆ คนก็ย่อมได้
กรณีคนป่วยที่ไม่สามารถถือศลีลอดได้ในช่วงรอมฎอน แต่หวังว่าเมื่อหายก็จะถือชดใช้หลังจากนั้น แต่ต่อมา เขาทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคที่เรื้อรัง ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นให้เขาเลี้ยงอาหารแก่คนยากจน แทนการถือศีลอด วันละคนตามจำนวนวันที่ขาด
บุคคลที่หวังว่าจะหายขาด แต่ต่อมาเขาเสียชีวิตลงเสียก่อนที่จะชดใช้ กรณีเช่นนี้ย่อมไม่บาปสำหรับเขา และครอบครัวก็ไม่ต้องถือชดใช้ หรือเลี้ยงอาหารแทนผู้ตายแต่อย่างใด
แต่สำหรับบุคคลที่หวังว่าจะหาย แล้วจะถือชดใช้ และเมื่อเขาหายเป็นปกติจริง ๆ เขากลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเป็นแรมปี จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงโดยที่ตัวเขายังคงติดค้างศีลอดนั้นอยู่ กรณีนี้ให้ครอบครัวของผู้ตายเลี้ยงอาหารแก่คนยากจนตามจำนวนวันที่ผู้ตายติดค้างไว้ โดยใช้เงินของผู้ตายใช้จ่ายทั้งหมดแทน
29. บุคคลใดเสียชีวิต โดยที่ยังติดค้างการถือศีลอดวาญิบไว้ (เช่น ศีลอดเนื่องจากการบนบาน) ทั้ง ๆ ที่ขณะมีชีวิตอยู่เขาสามารถจะกระทำได้ แต่เขาหน่วงเหนี่ยวไว้จนกระทั่งวาระสุดท้าย กรณีเช่นนี้ถือว่าผู้ตายติดค้างหนี้สินหนึ่งไว้ ซึ่งสมควรให้คนหนึ่งคนใดในสมาชิกครอบครัวของเขาถือศีลอดอันนั้นแทนเขาเสีย ดังมีระบุในหนังสือศอฮี้หฺของอัลบุคอรีและมุสลิม ความว่า "บุคคลใดเสียชีวิตลงโดยที่เขายังติดค้างการถือศีลอดอยู่วะลีของเขาถือแทนเขา"
นักวิชาการ (อุละมาอฺ) กล่าวว่า การถือศีลอดในความหมายของหะดีษบทนี้หมายถึง การถือศีลอดเนื่องจากการบนบาน ไม่ใช่การขาดศีลอดเดือนรอมฎอน แต่ทั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสมควรทำ (มุสตะฮาบ) เท่านั้น มิได้จำเป็นในลักษณะของวาญิบแต่ประการใด
30. คนสูงอายุหรือคนชราภาพที่กำลังวังชา หรือสุขภาพยิ่งมีแต่จะอ่อนแอและถดถอยลงทุกวัน ก็ไม่จำเป็นต้องถือศีลอด แต่ให้จ่ายอาหารเลี้ยงคนยากจนทดแทน เช่นเดียวกับกรณีของคนป่วยเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาดได้ ซึ่งเข้าในคำกล่าวของอัลลอฮฺตะอาลา ในโองการที่ว่า "และหน้าที่ของบรรดาผู้ที่ถือศีลอด ด้วยความลำบากยิ่ง (โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ) นั้นคือ การชดเชยอันได้แก่ให้อาหาร (มื้อหนึ่ง) แก่คนยากจนคนหนึ่ง (ต่อการงดเว้นจากการถือวันหนึ่ง)" (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 184)
ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า "อายะฮฺนี้มิได้ถูกยกเลิก (มันซูก) ด้วยอายะฮฺใด ๆ แต่ในที่นี้หมายถึง บุคคลที่สูงอายุมาก ๆ (ทั้งชายและหญิง) ที่มีความลำบากต่อการถือศีลอด ดังนั้น ก็ให้พวกเขาจ่ายอาหารให้แก่คนยากจนแทน"
สำหรับผู้สูงอายุมาก ๆ ที่สติเลอะเลือน พูดจากวน และสติปัญญาไม่ค่อยสมประกอบแล้ว ในกรณีนี้ถือว่า อัลลอฮฺไม่วาญิบการถือศีลอดแก่เขา เพราะหมดสภาพแล้ว แต่ถ้าหากเขายังอยู่ในสภาพที่สามารถรับรู้อะไรได้บ้าง เป็นบางช่วงก็ถือว่าช่วงเวลาที่ปกติดังกล่าวนั้น การถือศีลอดยังจำเป็นแก่เขาอยู่
31. บุคคลที่อยู่ในภาวะออกสงคราม ขับเคี่ยวกับศัตรู ซึ่งต้องตรากตรำอยู่ในสมรภูมิตลอดเวลา กรณีเช่นนี้ ก็สามารถละศีลอดได้เช่นเดียวกัน ถึงแม้นว่าเขาจะไม่อยู่ในสภาพที่ต้องเดินทางไกลก็ตามอีกทั้งอนุโลมให้สามารถละศีลอดได้ล่วงหน้าก่อนวันสงคราม ดังหะดีษหนึ่งของท่านนบี ที่ได้กล่าวแก่บรรดาเศาะฮาบะฮฺก่อนวันออกสงครามครั้งหนึ่ง ความว่า "แท้จริงพวกท่านจะต้องเผชิญหน้ากับศัตรูในวันพรุ่งนี้ การละศีลอดนั้นย่อมเป็นการเข้มแข็ง กว่าสำหรับพวกท่าน ดังนั้นก็จงละศีลอดก่อนเถิด"
32. บุคคลใดสาเหตุการอนุโลมให้ละศีลอดของเขาเป็นสาเหตุที่เปิดเผย / เห็นได้ชัดเจน เช่นเนื่องอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือบาดเจ็บ หากเขาจะทานอาหารในช่วงกลางวันอย่างเปิดเผยก็ย่อมไม่ผิดบาปอันใด แต่หากเนื่องจากสาเหตุที่ไม่เปิดเผย เช่น กรณีรอบเดือน ก็ควรทานอาหารในที่ ๆ ลับสายตาคนอื่น ทั้งนี้เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้พบเห็นได้
33. การถือศีลเดือนที่เป็นฟัรฎูและการถือศีลอดที่วาญิบ เช่นศีลอดชดใช้ หรือกัฟฟาเราะฮฺ ล้วนแล้วแต่ต้องมีเจตนา (นียะฮฺ) เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้ ดังหะดีษหนึ่งท่านนบี กล่าวไว้ ความว่า "ไม่มีการถือศีลอดสำหรับบุคคล ที่นอนหลับไปตลอดคืน (โดยไม่ตั้งเจตนาว่าจะถือศีลอดในวันรุ่งขึ้น)"
การมีเจตนานั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการถือศีลอดโดยจะตั้งเจตนาเอาไว้ขณะช่วงไหนของกลางคืนก็ได้ หรือเวลาชั่วครู่หนึ่ง ก่อนศุบหฺ
ลักษณะของเจตนาหรือนียะฮฺ ก็คือการมีความตั้งใจหรือมีความต้องการแน่วแน่ว่าจะกระทำการถือศีลอดตั้งแต่รุ่งอรุณ จนถึงเวลาดวงอาทิตย์ตกของวันรุ่งขึ้น เพื่ออัลลอฮฺตะอาลา การเจตนากระทำโดยจิตใจเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเอ่ยออกมาเป็นวาจาเพราะถือว่าเป็น "บิดอะฮฺ" หรือสิ่งอุตริ ที่ไม่มีในซุนนะฮฺ
ดังนั้นทุก ๆ คนที่รู้ว่าวันพรุ่งนี้เป็นรอมฎอน และประสงค์จะถือศีลอดก็เท่ากับว่าเขาได้ตั้งเจตนาแล้ว
ส่วนกรณีของผู้ที่ถือศีลอด แต่ตั้งใจว่าจะละศีลอดเมื่อถึงเวลาหนึ่งในช่วงกลางวัน แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าว เขาเปลี่ยนใจไม่ละศีลอด ปัญหานี้มีอุลามะอฺหลายฝ่ายเห็นแตกต่างกัน คือบ้างก็เห็นว่าศีลอดนั้นของเขาเสียเนื่องจากเจตนาหรือนียะฮฺไม่ต่อเนื่อง และต้องถือศีลอดชดใช้ ส่วนความเห็นที่เข้มแข็งกว่าก็คือศีลอดนั้นไม่เสียซึ่งเปรียบเทียบได้กับกรณีของผู้ที่ตั้งใจว่าจะพูดขณะนมาซแต่เปลี่ยนใจไม่พูดซึ่งถือว่าการนมาซนั้นใช้ได้
สำหรับในกรณีของการตกศาสนา (มุรตัด) ศีลอดนั้นย่อมเสียด้วยแน่นอนอย่างไม่มีข้อขัดแย้ง
34. ยกเว้นการเจตนาในการถือศีลอดซุนนะฮฺอาสา (เช่น ศีลอดในวันจันทร์ พฤหัส) ไม่จำเป็นต้องตั้งเจตนาไว้ก่อนในกลางคืนก่อนศุบหฺ ดังมีในหะดีษของท่านนบี ซึ่งเล่าจากนางอาอีซะฮฺ รอฎิยัลลอฮฺ ว่า "วันหนึ่งท่านรอซูล ได้มาหาฉัน และถามว่า "วันนี้พวกเธอมี (อาหาร) อะไรกินบ้างหรือเปล่า?" พวกเราตอบว่า "ไม่มีอะไรอยู่เลยค่ะ" ท่านจึงกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้นฉันถือศีลอด"
ส่วนการถือศีลอดซุนนะฮฺที่เกี่ยวข้องกับเวลาเฉพาะ เช่น ศีลอดในวันอะรอฟะฮฺ หรือวันอาซูรอฮฺนั้น ต้องมีเจตนาไว้ก่อนศุบฮฺเช่นเดียวกัน
35. บุคคลใดมีพันธะที่ต้องถือศีลอดวาญิบประเภทใด เช่น ศีลอดชดใช้ ศีลอดบนบานหรือ กัฟฟาเราะฮฺ จำเป็นต้องทำให้สมบูรณ์ตามนั้น จะละศีลอดขณะที่กำลังถืออยู่โดยไม่มีเหตุจำเป็นไม่ได้
ส่วนการถือศีลอดซุนนะฮฺประเภทอาสา เขาย่อมมีสิทธิที่จะถือหรือไม่ถือเมื่อไหร่ก็ได้ ถึงแม้ไม่มีเหตุอุปสรรคอันใดก็ตาม ดังเช่น ครั้งหนึ่งท่านถือศีลอด (โดยสมัครใจ) อยู่ แล้วท่านก็ทานอาหาร แต่ปัญหาจึงมีอยู่ว่า การละจากการถือศีลอดซุนนะฮฺ เช่นนี้โดยที่ไม่มีเหตุจำเป็นอันใด การถือศีลอดในช่วงแรก ๆ ของวันนั้นของเขาจำได้ผลบุญหรือไม่ ? เรื่องนี้นักวิชาการส่วนหนึ่งกล่าวว่าไม่ได้ผลบุญ ดังนั้นหนทางที่ดีกว่าก็คือ ควรถือศีลอดนั้นให้ตลอดวัน หากไม่มีเหตุผลจำเป็นใดศาสนาอนุโลม
36. กรณีบุคคลที่ไม่ได้ตั้งใจถือศีลอด เพราะสาเหตุไม่ทราบว่าเดือนรอมฎอนเริ่มแล้ว และเพิ่งรับข่าวเมื่อตอนสว่าง กรณีเช่นนี้ให้เขางดอาหารในวันนั้นทันที ตั้งแต่ได้รับทราบข่าวและต้องถือศีลอดชดใช้อีกในวันอื่น อันเป็นทัศนะของบรรดาอุละมาอฺส่วนใหญ่ (ญุมหูร) ดังหะดีษของท่านนบี ที่กล่าวความว่า "ไม่มีการถือศีลอดสำหรับบุคคลที่นอนหลับไปตลอดคืนจนสว่าง (โดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะถือศีลอดในวันรุ่งขึ้น)"
37. สำหรับมุสลิมที่ถูกจำลองอยู่ในคุกและถูกขังนั้น หากเขาทราบวันเริ่มรอมฎอนจากการเห็นเดือน หรือข่าวที่เชื่อถือได้ เขาก็จำเป็นต้องถือศีลอดตามนั้น แต่ถ้าหากไม่มีโอกาสทราบก็ให้เขาพยายามสอบถาม หรืออิจญติฮาด (วินิจฉัย) ด้วยตนเองอย่างสุดความสามารถ เพื่อจะได้ปฏิบัติอิบาดะฮฺนี้ตามความนึกคิดที่ตนเองมั่นใจที่สุด และถ้าหากการวินิจฉัยของเขาตรงกับความเป็นจริง (คือตรงกับรอมฎอน) ดังนั้นการถือศีลอดของเขาก็ถูกต้องและถูกตอบแทน ในทัศนะของอุละมาอฺ ส่วนใหญ่ (ญุมหูร) เช่นกัน หากการถือศีลอดของเขานั้นไปตรงกับวันหลังเดือนรอมฎอนผ่านไปแล้ว การถือศีลอดนั้นก็ย่อมถือว่าใช้ได้ และถูกตอบแทนเช่นกัน ในทัศนะของนักนิติศาสตร์ (ฟุเกาะฮาอฺ) ส่วนใหญ่ แต่หากว่า การวินิจฉัยของเขาผิด คือถือศีลอดก่อนรอมฎอนจะเริ่ม การถือศีลอดนั้นถือว่าเป็นโมฆะ และจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ หรือหากในกรณีที่เขาถือศีลอดตรงกับเดือนรอมฎอนในบางวัน และไม่ตรงในบางวันก็ถือว่าส่วนที่ตรงเดือนรอมฎอน และหลังเดือนรอมฎอนเท่านั้นที่ใช้ได้ ส่วนการถือศีลอดในช่วงวันที่ก่อนเดือนรอมฎอนถือเป็นโมฆะ ยกเว้นในกรณีที่เขาถูกกักขัง หรือถูกขังลืมไว้ในสถานที่หนึ่งที่เขาไม่มีโอกาสรับรู้เหตุการณ์หรือข่าวคราวอะไรได้เลย กรณีเช่นนี้ให้เขาปฏิบัติอย่างสุดความสามารถของเขา และเขาจะได้รับผลตอบแทน
38. เวลาที่ถือว่าเริ่มทำการละศีลอดได้ก็คือ เมื่อเวลาที่ดวงอาทิตย์ทั้งดวงได้ลับขอบฟ้าไปแล้ว ถึงแม้นยังเห็นรัศมีหรือแสงสีแดงอยู่ก็ตาม ดังคำกล่าวของท่านนบี ในหะดีษความว่า "เมื่อเวลากลางคืนได้ย่างกรายเข้ามาจากตรงนี้ และกลางวันได้จากไปจากตรงนี้ ดังนั้นผู้ที่ถือศีลอดอยู่ ก็ละศีลอดได้"
ตามซุนนะฮฺ แล้วส่งเสริมให้รีบละศีลอดเมื่อเข้าเวลา ซึ่งท่านนบี เองนั้นท่านก็จะไม่นมาซมัฆริบ นอกจากท่านได้ละศีลอดเสียก่อน ถึงแม้เพียงการดื่มน้ำเปล่าก็ตาม แต่หากว่าวันนั้นไม่มีอาหารหรือเครื่องดื่มใด ๆ เลย ก็ให้นึกว่าได้ละศีลอดภายในใจก่อนจนกว่าจะได้อาหาร ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการดูดนิ้วเหมือนอย่างที่บางคนซึ่งเข้าใจผิดปฏิบัติกัน
ทั้งนี้ควรระมัดระวังการละศีลอดก่อนถึงเวลา ซึ่งเป็นความผิดที่รุนแรงดังมีกล่าวในหะดีษหนึ่งที่ ท่านนบี ได้พบเห็นผู้คนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาถูกร้อยขาที่เอ็นร้อยหวายมีเลือดไหลออกมาทางข้างปาก เมื่อถูกถามว่า พวกเขาคือใคร ? (มะลาอิกะฮฺ) ก็ตอบว่า "พวกเขาคือบรรดาบุคคลที่กินอาหาร (ในเดือนรอมฎอน) ก่อนที่จะถึงเวลาละศีลอด"
39. ส่วนเวลาที่ต้องเริ่มงดเว้นจากการดื่มกิน หรือเสพสิ่งต้องห้ามทุกชนิด ก็คือเมื่อเวลาที่รุ่งอรุณขึ้น คือเป็นแสงสีขาวสดใสชัดเจนขึ้นตัดขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ถึงแม้เวลานั้นเขาจะได้ยินเสียงอะซานหรือไม่ก็ตาม จะทานอาหารอีกไม่ได้แล้ว หรืออาศัยการดูตารางเวลาที่คำนวณไว้ตามปฏิทินรอมฎอนก็ได้ เพื่อความแน่ชัดและมั่นใจกว่า
สำหรับความเข้าใจที่ว่า ต้องงดเว้นอาหารก่อนรุ่งอรุณ (ฟัจญรฺ) โดยระบุเวลาว่า 10 นาที หรือราว ๆ นั้น เป็นความคิดที่อุตริ (บิดอะฮฺ) เพราะศาสนามิได้กำหนดเช่นนั้น
40. ในกรณีการถือศีลอดในบางประเทศ ระยะเวลาของกลางวันและกลางคืนทั้ง 24 ชั่วโมงโดยอยู่ด้วยกันโดยแยกไม่ออก เช่น กลางวันยาวนานกว่า (เช่นบางประเทศแถบขั้วโลก) สำหรับบุคคลที่เป็นมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศนั้น จำเป็นต้องอาศัยการเทียบเวลาของประเทศที่ใกล้เคียงที่สุดที่สามารถคิดคำนวณ แยกแยะกลางวันกลางคืนได้ใช้เพื่อกำหนดเวลาการถือศีลอดและละศีลอดของตน
41. นอกเหนือจากการมีรอบเดือนและมีเลือดหลังคลอดบุตร (นิฟาส) แล้ว สาเหตุอื่น ๆ ที่จะทำให้ศีลอดเสียนั้น ต้องประกอบด้วย 3 เงื่อนไขด้วยกัน คือ
1. ผู้ถือศีลอดทราบหลักการศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ แล้ว (มิใช้ญาฮิล)
2. กระทำโดยเจตนาหรือจงใจ มิใช่เป็นการหลงลืม
3. มิได้อยู่ในภาวะบังคับให้กระทำ โดยไม่มีทางเลือกหรือหลีกเลี่ยงได้
ซึ่งสิ่งที่ทำให้ศีลอดเสีย บางสาเหตุก็เป็นลักษณะของการพยายามทำให้สิ่งหนึ่งออกจากร่างกาย เช่น การร่วมประเวณี การทำให้อาเจียน มีเลือดประจำเดือน และการกรอกเลือด และบางสาเหตุเป็นลักษณะของการนำสิ่งหนึ่ง ๆ ภายนอกเข้าสู่ร่างกาย เช่น การดื่ม การกินอาหาร เป็นต้น
42. การทำให้ศีลอดเสียบางอย่างที่อยู่ในความหมายเดียวกับการกินหรือการดื่ม เช่นการใช้ยาทางปาก การฉีดสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย หรือการให้และการถ่ายเลือดสู่ร่างกาย
สำหรับการฉีดยาที่ไม่ใช่เป็นการให้สารอาหาร หรือพลังงานสู่ร่างกายก็ย่อมไม่ทำให้ศีลอดเสีย ไม่ว่าจะฉีดที่กล้ามเนื้อหรือเส้นเลือดก็ตาม เช่นเดียวกันการรักษาโรคไตพิการบางชนิด ที่จำเป็นต้องอาศัยการดูดโลหิตที่เสียออกมาฟอกภายนอกแล้วฉีดกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง รวมทั้งการปลูกฝี การสวนทวาร การหยอดยารักษาหรือหู การถอนฟัน และการใส่ยาที่บาดแผล ก็ไม่ทำให้ศีลอดนั้นเสียแต่อย่างใด
การเป่ายาเข้าลำคอเพื่อรักษาโรคหอบหืด ซึ่งบางคนจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ก็ไม่ได้ทำให้ศีลอดเสีย ทั้งนี้เพราะเป็นแค่การดูดตัวยาเข้าสู่ปอด และไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มแต่อย่างใด หรือการกลั้วน้ำในลำคอ ตราบใดที่น้ำมิได้ตกเข้าไปสู่ท้องหรือการถอนฟันโดยทันตแพทย์หลังถอนเสร็จ ถึงแม้จะรู้สึกว่าได้กลิ่นตัวยาในช่วงลำคอ ก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสียแต่อย่างใด
43. ผู้ใดกินหรือดื่มโดยเจตนาในช่วงกลางวันของรอมฎอน โดยปราศจากเหตุผลที่จำเป็นที่ศาสนาอนุโลม แน่นอนเท่ากับเขาได้กระทำผิดอันมหันต์ลงไป ที่เขาจำเป็นต้องรีบขอลุแก่โทษ (เตาบะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ  และถือชดใช้วันที่เขาเสียไปในวันอื่น
ในกรณีหาเขาทำให้ศีลอดของเขาเสียด้วยการดื่มของมึนเมา ต้องห้าม เช่นสุรา ก็ยิ่งถือว่าเขาได้ก่อความบาปอันยิ่งใหญ่เพิ่มทวีขึ้นเป็นเท่าตัว ตกอยู่ในสภาพที่เลวร้ายและอันตรายต่อการกริ้วโกรธ และการลงโทษจากอัลลอฮฺตะอาลามากที่สุด ซึ่งเขาต้องรีบสารภาพผิด กลับตัวให้เร็วที่สุด พร้อมกับพยายามสร้างความดีงามต่าง ๆ ให้มาก เช่น การปฏิบัติที่เป็นซุนนะฮฺ ทั้งนี้เพื่อหวังความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ และซ่อมแซมส่วนบกพร่องต่าง ๆ จากฟัรฎูทั้งหลาย ของเขาที่ถูกทำให้เสียหรือขาดไป
44.ส่วนการกินหรือการดื่มโดยการหลงลืม มิได้เจตนานั้น ก็ให้เขาถือศีลอดต่อไปได้ เพราะไม่ได้ทำให้ศีลอดนั้นเสีย เพราะไม่ได้เจตนา แต่ถือว่าเป็นการเมตตาจากพระประสงค์ของอัลลอฮฺ ในหะดีษบทหนึ่ง ความว่า "ดังนั้น เขาไม่จำเป็นต้องถือชดใช้ หรือทำกัฟฟาเราะฮฺ" หากกรณีที่พบเห็นบุคคลอื่นลืมและกำลังกินอาหารอยู่ก็ให้กล่าวเตือนสติเขา ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของโองการอัล-กุรอานที่ว่า "และพวกสูเจ้า จงให้การช่วยเหลือกับบนพื้นฐานของคุณธรรมและการยำเกรง (ตักวา)" และคำกล่าวของท่านนบี ความว่า "และหากฉันหลงลืมไป ดังนั้นพวกท่านก็จงเตือนสติฉันด้วย"
45. กรณีของการละศีลอด เนื่องตกอยู่ในสภาวะที่จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือชีวิตผู้ที่ตกอยู่ในอันตราย เช่น เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ กู้เรืออับปาง หรือดับเพลิง เป็นต้น กรณีจำเป็นเช่นนี้อนุโลมให้ละศีลอดได้ และให้ถือชดใช้ในภายหลัง
46. กรณีของการร่วมประเวณีโดยเจตนา หรือจงใจในตอนกลางวันของเดือนรอมฎอน โดยสอดใส่ ! ปลายอวัยวะเพศเข้าไปภายในทางหนึ่งทางใดจากทวารทั้งสอง แม้ว่าจะหลั่งน้ำอสุจิออกมาหรือไม่ก็ตาม ย่อมเท่ากับเขาทำให้การถือศีลอดนั้นเสียแล้ว และต้องอดอาหารต่อไปจนกระทั่งสิ้นวัน โทษของการกระทำความผิดอันหนักนี้ก็คือ ต้องชดใช้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใดจากวิธีการต่อไปนี้ คือ ต้องถือศีลอดชดใช้ 2 เดือนติดต่อกัน หรือการเลี้ยงอาหารแก่คนยากจนจำนวน 60 คน หรือที่ระบุในหะดีษบทหนึ่งรายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺ  ว่า "ขณะที่เรากำลังนั่งอยู่พร้อมกับท่านนบี  ทันใดนั้นก็ได้มีชายผู้หนึ่งเข้ามาหาท่าน และกล่าวขึ้นว่า "โอ้รอซูลุลลอฮฺ ฉันพินาศแล้ว" ท่านถามว่า "เกิดอะไรขึ้นกับท่านหรือ ?" เขาตอบ "ฉันได้ร่วมประเวณีกับภรรยาของฉันในขณะที่ฉันถือศีลอด" ดังนั้นท่านรอซูล จึงถามเขาอีกว่า "แล้วท่านมีทาสสักคนเพื่อปล่อยเป็นไทไหม ?" เขาตอบ "ไม่มีครับ" ท่านถามต่อไป "ดังนั้น ท่านสามารถถือศีลอดเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกันหรือไม่ ?" เขาตอบเหมือนเดิมอีกว่า "ฉันไม่มีความสามารถครับ" ท่านจึงถามต่อไปอีกว่า "ท่านมีอาหารเพื่อเลี้ยงแก่คนยากจนจำนวน 60 คนหรือเปล่า ?" เขาก็ตอบว่าไม่มีอีก"
ข้างต้นนี้รวมถึงการทำซินา การร่วมเพศแบบรักร่วมเพศ หรือการสมสู่กับเดรัจฉาน ซึ่งล้วนอยู่ในกฎ (หุก่ม) เดียวกัน
47. สำหรับกรณีของบุคคลหนึ่งที่ต้องการร่วมประเวณีกับภรรยาของเขาในกลางวันของรอมฎอน ดังนั้น จึงจงใจกินอาหารเพื่อให้ศีลอดของเขาเสียก่อน จึงร่วมประเวณีกับภรรยา กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าบุคคลนั้นได้กระทำการละเมิด (มุอฺศิยะฮฺ) กฎอันหวงห้ามของรอมฎอนเป็น 2 เท่าด้วยกัน คือด้วยการกินและการร่วมประเวณี หน้าที่ของเขาจำเป็นต้องลบล้างความผิดด้วยการทำ "กัฟฟาเราะฮฺ" พร้อมกับขอลุแก่โทษต่อการฝ่าฝืนอันร้ายแรงนั้นจากอัลลอฮฺ อย่างจริงจังและมากมาย
48. การจูบ ลูบไล้ การกอด การสัมผัสแตะต้องตัว และการมองภรรยาของตนเองนาน ๆ หากเขาสามารถควบคุมความรู้สึก หรืออารมณ์ของตนเองได้ ก็ไม่ถือว่าต้องห้าม หรือกระทำไม่ได้สำหรับผู้กำลังถือศีลอด เพราะมีหลักฐานจากหะดีษหนึ่ง รายงานจาก นางอาอีซะฮฺ รอฎอยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า "แท้จริงท่านนบี เคบจูบ (ภรรยา) ขณะถือศีลอด แต่ทั้งนี้เพราะว่าท่านสามารถควบคุมความต้องการ (ของอารมณ์ใคร่) นั้นได้มากยิ่งกว่าพวกท่านทั้งหลาย"
สำหรับความหมายของหะดีษกุดซีย์ที่ว่า "เขาได้ทิ้งภรรยาของเขาเพื่อฉัน (อัลลอฮฺ) เป้าหมายก็คือ "ละทิ้งจากการร่วมประเวณีกับนาง"
แต่หากบุคคลใดเป็นผู้ที่ไวต่อความรู้สึกทางเพศเร็วและมีความต้องการทางเพศสูง เกรงว่าอาจจะไม่สามารถหักห้ามอารมณ์ของตนเองได้ หรือทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศ จนน้ำอสุจิเคลื่อน หรือนำไปสู่การร่วมประเวณีได้ ในกรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นที่ต้องห้ามเพราะทำให้การถือศีลอดต้องเสียไปได้ และนี้เองคือเจตนาที่อัลลอฮฺ ตะอาลา กล่าวในหะดีษกุดซีย์ที่ว่า "และเขาละทิ้ง ตัณหาของเขาเพื่อฉัน" เพราะตามหลักการ ศาสนาแล้วถือว่า "ทุก ๆ สิ่งที่เป็นสื่อนำพาไปสู่สิ่งที่หะรอม (ต้องห้าม) สิ่งนั้นย่อมถือว่า หะรอม (ต้องห้าม) ด้วย"
49. หากในขณะที่กำลังร่วมกับภรรยาอยู่พอดีได้เวลารุ่งอรุณขึ้น เขาจำเป็นต้องหยุดกระทำทันที และถือว่าศีลอดของเขานั้นใช้ได้ ถึงแม้จะมีน้ำอสุจิหลั่งออกมาหลังจากที่หยุดกระทำแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากเขาไม่หยุดและยังคงร่วมเพศต่อไป ย่อมถือว่าศีลอดในวันรุ่งขึ้นนั้นของเขาเสีย และจำเป็นต้องขอลุแก่โทษ (เตาบะฮฺ) ถือชดใช้และต้องทำกัฟฟาเราะฮฺ
50. หากเขาตื่นขึ้นมาตอนศุบหฺในสภาพที่มีญุนุบ ไม่ถือว่าทำให้ศีลอดในวันนั้นของเขาเสีย แต่ทั้งนี้ให้เขาจะต้องไม่ประวิงการอาบน้ำชำระล้างร่างกายจากญะนาบะฮฺ เลือดประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตร (ยกหะดัษใหญ่) ไปจนกระทั่งตะวันขึ้น และเขาต้องรีบนมาซหลังจากนั้น
51. หากเขานอนหลับฝันเปียกในเวลากลางวันของเดือนรอมฎอน ก็ไม่ถือว่าทำให้ศีลอดนั้นเสียเช่นกัน และให้เขาถือศีลอดต่อไปจนตลอดวันได้โดยปกติ
52. กรณีของการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในตอนกลางวันของรอมฎอน ด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ การใช้มือ การสัมผัส การมอง เป็นต้น จนกระทั่ง ทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนหรือหลั่งออกมา ย่อมทำให้ศีลอดเสียอย่างแน่นอน และถือว่าผู้นั้นได้ฝ่าฝืนหรือละเมิด ขั้นรุนแรงต่อบัญญัติ ฉะนั้นเขาจำเป็นต้องรีบลุแก่โทษ จากอัลลอฮฺ  ต่อการฝ่าฝืนนั้น และเขาต้องอดอาหารต่อไปในเวลาที่เหลืออยู่ของวันนั้น จนกระทั่งพลบค่ำเช่นผู้ถือศีลอดทั่วไป และถือชดใช้ในภายหลัง
ส่วนกรณีที่น้ำอสุจิเคลื่อนออกมาโดยไม่เจตนา เช่นเนื่องจากความรู้สึกกำหนัด หรือเพียงการนึกคิดในทัศนะของอุละมาอฺที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ถือว่าการถือศีลอดนั้นไม่เสีย ทั้งนี้โดยอ้างอิงหลักฐานจากหะ ดีษที่ท่านนบี  กล่าวความว่า "แท้จริงอัลลอฮฺ  ทรงยกโทษให้แก่ประชาชาติของฉันในสิ่งที่จิตใจของพวกเขาเพียงแต่คิด ตราบใดที่พวกเขายังไม่กระทำหรือพูดออกมา"
หากเขาตั้งใจและเริ่มสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองแต่ยังไม่ถึงกับหลั่งอสุจิ แล้วเขาก็หยุดเสียในกรณีนี้ถือว่า ศีลอดยังไม่เสียและไม่ต้องถือชดใช้ แต่ให้เขาขอลุแก่โทษจากอัลลอฮฺ  ที่ได้เริ่มการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อพระองค์ไป เพราะฉะนั้นสมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ทีถือศีลอดอยู่นั้น จะต้องนำตัวออกห่างจากทุกสิ่งทุกอย่างที่มันอาจกระตุ้นให้อารมณ์หรือความรู้สึกทางเพศ หรือความนึกคิดที่ลามกขึ้นมาได้
ส่วนการหลั่งของน้ำมะซีย์ (น้ำกำหนัด) จากอวัยวะเพศนั้น โดยทัศนะที่แข็งแรงแล้ว ยังไม่ถือว่าทำให้ศีลอดนั้นเสีย
53. ผู้ใดมีอาการคลื่นเหียนจนอาเจียนออกมา การถือศีลอดของเขาไม่เสีย ยกเว้นมีเจตนาทำให้อาเจียน เช่น เอามือล้วงคอ รีดหน้าท้อง ถือว่าการถือศีลอดนั้นเสีย และถือชดใช้เช่นเดียวกับกรณีของเจตนาดมสิ่งที่มีกลิ่นฉุน หรือจ้องมองสิ่งหนึ่ง ๆ จนทำให้เกิดอาการคลื่นเหียนอาเจียนออกมา เช่นนี้ถือว่าเป็นการเจตนา หากอาเจียนออกมาเนื่องจากมีความผิดปกติภายในร่างกาย หรือกระเพาะอาหาร ศีลอดไม่เสีย
ส่วนกรณีการเอาสิ่งของ เช่น ปากกา เหรียญ เข้าปากคาบไว้ระหว่างฟัน หรืออมไว้โดยไม่มีเจตนาจะกิน หรือกลืนเข้าไปในลำคอ หรือสิ่งที่มีขนาดเล็กมาก ๆ เช่น เส้นผม หรือเศษวัสดุเล็ก ๆ ซึ่งบางครั้งยากต่อการแยกออกมาจากน้ำลายได้ ดังนั้นให้คายออกมาพร้อมกับน้ำลายเสีย
การชบเคี้ยวหมากฝรั่ง เศษยางเล็ก ๆ หากชิ้นส่วนของมันหลุด หรือละลาย หรือมีรสกลิ่นตกเข้าสู้ลำคอหรือกระเพาะได้ ย่อมไม่อนุโลมให้นำเข้าปากหรือเคี้ยวขณะถือศีลอด เพราะทำให้ศีลอดนั้นเสียได้ แต่หากเป็นยางหรือวัตถุ ที่มีความแข็งชิ้นส่วนไม่หลุดหรือไม่สามารถละลายในน้ำลายได้ กรณีเช่นนี้อุละมาอฺและนักวิชาการโดยทั่วไป ถือว่าการอมหรือนำเข้าปากนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) เช่นเดียวกันบรรดาสะละฟุศ ศอลิฮฺบางท่านกล่าวไว้ว่า "ท่านพึงชิงชังต่อการกระทำสิ่งที่อาจนำพาไปสู่การเกินเลย หรือผิดพลาดได้ ถึงแม้ว่าขณะที่กระทำนั้นท่านอาจมีข้ออ้าง หรือเหตุผลอยู่บ้างก็ตาม"
การบ้วนน้ำลายทิ้งภายหลังจากการบ้วนปากกลั้วคอแล้ว ส่วนเปียกชุ่มที่สัมผัสได้ในช่องปากนั้นถือว่าไม่ทำให้เสียศีลอด เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถขจัดหรือเลี่ยงได้
กรณีของการเกิดแผลที่กระพุ้งแก้ม หรือเลือดไหลตามไรฟัน เนื่องจากการแปรงฟัน ให้เขาบ้วนเลือดนั้นออก จะกลืนหรือนำเข้าสู่ลำคอไม่ได้ ส่วนเสลดหรือเสมหะที่ออกมาจากลำคอ เนื่องจากสาเหตุของการไอ หรือเป็นหวัดนั้น ให้พยายามคายออกมาเท่าที่สามารถทำได้ ส่วนที่อาจหลงเหลืออยู่ในลำคอนั้นเป็นที่อนุโลม
ขณะที่ถือศีลอดอยู่เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ที่จะลิ้มรสอาหาร โดยที่ไม่มีความจำเป็นยิ่งยวดจริง ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการเสี่ยงที่อาจทำให้ศีลอดนั้นเสียหายได้ กรณีจำเป็นที่ว่านี้ เช่น การเคี้ยวอาหารให้ทารก หากกรณีที่จำเป็นเช่นการใช้ลิ้นแตะเพื่อทราบรสของอาหารที่จะซื้อ ดังหะดีษหนึ่งรายงานจากท่าน อิบนุอับบาส รอฎอยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า "ไม่เป็นอะไรที่จะลิ้มรสของน้ำส้มสายชูหรือ สิ่งที่ต้องการซื้อ"
54. การแปรงฟัน เป็นซุนนะฮฺสำหรับผู้ถือศีลอด ในกรณีที่ใช้ไม้ (ข่อย) แปรงฟัน แม้ไม้นั้นจะยังสดก็ไม่เป็นไรหากมีรสเผ็ดหรือรสอย่างอื่นให้บ้วนออก หลังจากนั้นหากจะยังมีรสติดอยู่ก็ไม่ทำให้เสียศีลอดแต่อย่างใด
สิ่งที่พวกเราพึงระวังคือ การแปรงฟันด้วยยาสีฟัน ในช่วงกลางวัน ซึ่งบางยี่ห้อมีส่วนผสมของตัวยาที่รุนแรงมีรสซ่าอาจผ่านเข้าลำคอได้ ไม่อนุญาตให้กลืนเข้าไปโดยเจตนา แต่หากไม่เจตนาก็ไม่เป็นไร
55. สิ่งที่อาจประสบกับผู้ถือศีลอดได้เสมอก็คือ เช่น การมีบาดแผลมีเลือดกำเดาออกทางจมูก หรือมีน้ำหรือน้ำมันกระเด็นเข้าปาก หากเป็นไปโดยมิได้เจตนาก็ไม่ทำให้การถือศีลอดนั้นเสีย ทำนองเดียวกับกรณีที่อาจมีฝุ่น ควันไฟ หรือแมลงเข้าไปในปาก และตกถึงท้องโดยไม่ได้เจตนา สิ่งที่ไม่อาจคายออกจากปากได้หมด เช่นน้ำลาย ซึ่งเป็นของที่อยู่ในร่างกายเราก็อนุญาตให้กลืนลงไปในท้องได้เช่นเดียวกับฝุ่นในท้องถนน หรือละอองแป้งซึ่งเล็กมาก หากฟุ้งกระจายเข้าปากโดยไม่ได้ตั้งใจ และผสมปะปนอยู่กับน้ำลายบ้างเล็กน้อย แล้วกลืนเข้าลำคอไป ในทัศนะที่ถูกต้องที่สุดแล้วไม่ถือว่าทำให้ศีลอดนั้นเสีย และไม่ถือว่าทำให้เสียศีลอดเช่นเดียวกัน เช่นกรณีที่ร้องไห้ และรู้สึกว่ามีน้ำตาตกอยู่ภายในลำคอ หรือใส่น้ำมันบนศรีษะ รู้สึกว่ามีกลิ่นตกอยู่ในลำคอ หรือการใส่ยาป้ายขอบตา หรือทาขี้ผึ้งโซลูชั่นทาผิว
การดมน้ำหอม หรือได้กลิ่นธูปเทียน ก็เช่นเดียวกัน ไม่เป็นที่ต้องห้าม แต่พึงระวังอย่าให้กลิ่นหรือควันของมันเข้าลึกไปในลำคอ และพึงหลีกห่างจากการใช้ยาสีฟันในเวลากลางวัน ควรใช้ในเวลากลางคืนดีที่สุด
56. และสิ่งที่ผู้ถือศีลอดพึงหลีกเลี่ยงอีกประการหนึ่งก็คือ การกรอกเลือดในขณะถือศีลอดอยู่ ซึ่งแม้ในเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาขัดแย้งอย่างกว้างขวางในหมู่อุละมาอฺก็ตาม ซึ่งในทัศนะของท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ถือว่าผู้กรอกเลือดนั้นศีลอดเสีย
57. การสูบบุหรี่ เป็นสิ่งที่ทำให้เสียศีลอดแน่นอน และย่อมไม่มีเหตุผลอันใดสำหรับบุคคลที่ติดบุหรี่จะละทิ้งการถือศีลอด เพราะอ้างว่าขาดบุหรี่ไม่ได้ทั้ง ๆ ที่บุหรี่นั้นแท้จริงแล้วเป็นยาเสพติดที่หะรอมด้วยหลักการศาสนา
58. การดำลงไปในน้ำ การเอาผ้าซับน้ำให้เปียกคลุมร่างกาย เพื่อให้เกิดความเย็น หรือใช้น้ำราดบนศีรษะขณะที่ถือศีลอดอยู่ในช่วงกลางวัน เพื่อบรรเทาความร้อนหรือกระหาย ไม่ถือว่าทำให้ศีลอดนั้นเสีย
ส่วนการลงไปเล่นน้ำ หรือว่ายน้ำเป็นเวลานาน ๆ ถือว่าเป็นมักรูฮฺ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อน้ำจะเข้าไปในปากหรือสำลักได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการดำน้ำ หรือจำเป็นต้องลงไปในน้ำอยู่บ่อย ๆ เช่น ชาวประมง หากเขาสามารถป้องกันมิให้น้ำเข้าไปในท้องได้ก็ไม่เป็นที่ต้องห้าม แต่ทั้งนี้สมควรหลีกเลี่ยงและระวังให้มากที่สุด
59. กรณีของผู้ที่กินหรือดื่ม หรือร่วมประเวณีกับภรรยา เนื่องจากเข้าใจว่าขณะนั้นยังไม่ถึงเวลาต้องห้าม ต่อมาทราบว่าเวลารุ่งอรุณผ่านมาแล้ว ไม่ถือว่าศีลอดนั้นเสีย ให้เขาถือต่อได้เลย เพราะมิได้เจตนาละเมิด เพราะจากสิ่งที่โองการอัล-กุรอาน ระบุก็คือ เมื่อประจักษ์แจ้งว่ารุ่งอรุณขึ้น แต่กรณีข้างต้นเป็นการเข้าใจผิดหรือไม่ชัดเจน ดังรายงานหนึ่งด้วยสายสืบที่เศาะฮี้หฺ จากอิบนุอับบาส รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า "อัลลอฮฺทรงอนุโลมการกินและการดื่มตราบที่ท่านยังไม่มีความมั่นใจว่าถึงเวลา (อิมซาก) แล้ว"
60. กรณีของการละเมิดศีลอดโดยเข้าใจว่า ตะวันลับขอบฟ้าแล้ว ทั้งที่แท้จริงแล้วยังไม่ถึงเวลา ในกรณีเช่นนี้ถือว่าศีลอดวันนั้นของเขาเสีย โมฆะ และต้องชดใช้ เพราะต้องยึดหลักเดิม (อะศ็อล) กล่าวคือ สิ่งที่คลางแคลงนั้นย่อมมิสามารถหักล้างสิ่งที่แน่ชัดได้
61. เมื่อได้ยินเสียงอะซาน หรือทราบว่าหมดเวลาทานสะหูร (เข้าอิมซาก) แล้ว ในขณะที่ยังมีอาหารอยู่ในปาก บรรดานักวิชาการฟิกฮฺ (นิติศาสตร์) มีทัศนะที่เห็นพ้องกันว่าให้คายอาหารที่เหลือนั้นออกจากปากทันที และให้เขาถือศีลอดต่อไปได้ เช่นเดียวกับกรณีการกินหรือดื่มโดยหลงลืม ไม่ได้เจตนา
62. เมื่อถึงวัยบรรลุนิติภาวะ (อากิลบาลิฆ) แล้ว แต่ยังไม่ถือศีลอด เนื่องสาเหตุเพราะอาย ไม่กล้าถือศีลอด ถือว่ามีความผิดต้องขอแก่โทษ (เตาบะฮฺ) จากอัลลอฮฺตะอาลาเสีย และให้ถือศีลอดชดใช้ในวันที่ขาดไปทั้งหมด
หากเวลาได้ล่วงเลยมาเป็นปีแล้ว กระทั่งถึงรอมฎอนอีกครั้งหนึ่ง โดยที่เขายังไม่ชดใช้สิ่งที่เขาละเลยไว้เมื่อปีกลายเลย กรณีเช่นนี้ให้รับชดใช้เมื่อมีโอกาสทันที พร้อมกับต้องให้อาหารแก่คนยากจนคนหนึ่งในทุก ๆ วันที่ขาด ทั้งนี้เพื่อเป็นค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) ในโทษฐานล่าช้า หรือละเลยต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺตะอาลาด้วย
63. ภรรยาจะต้องไม่ถือศีลอดใด ๆ (ที่เป็นซุนนะฮฺ) นอกเหนือจากได้รับการยินยอมของสามีด้วย นอกจากในกรณีที่สามีเดินทางหรือไม่อยู่บ้าน ยกเว้นการถือศีลอดเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นฟัรฎูไม่จำเป็นต้องขออนุญาตสามีก่อนแต่อย่างใด
64. สตรีที่อยู่ในระหว่างการมีประจำเดือน หากนางพบว่ามีสิ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ สีขาว (แท้จริงคือสายของเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะถูกขับออกมาจากมดลูกของสตรีเมื่อหมดรอบเดือน) หมายความว่าขณะนั้นนางอยู่ในสภาพที่สะอาดแล้ว และให้นางเตรียมตัวเพื่อตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ถือศีลอดเพื่อวันรุ่งขึ้นได้ทันที แต่หากเอามาแตะ ด้วยสำลีแล้วพบว่าไม่ค่อยมั่นใจ ให้ตั้งข้อสังเกตุว่า หากเลือดนั้นมีสีใสสะอาด ก็ให้ถือศีลอดต่อไป แต่หากกลับมีระดูมาอีกก็ให้ละศีลอด
สำหรับผู้ที่มั่นใจว่ารอบเดือนของตนหมดแล้ว และได้เริ่มถือศีลอดจนกระทั่งผ่านไปถีงเวลามัฆริบ คือหลังจากทำการละศีลอดแล้ว ก็พบว่าเลือดประจำเดือนนั้นมาอีก กรณีเช่นนี้ถือว่าการถือศีลอดที่ผ่านมาในวันนั้นถูกต้อง และได้รับผลบุญ (อินชาอัลลอฮฺ)
เช่นเดียวกันหากผู้ที่อยู่ในรอบเดือน หรือสตรีมีนิฟาส (เลือดหลังการคลอดบุตร) พบว่าเลือดของนางนั้นหยุดแล้วตั้งแต่เมื่อคืน ให้นางเริ่มนียะฮฺ (เจตนา) ถือศีลอดได้เลย ถึงแม้นางจะอาบน้ำชำระกายหลังจากที่รุ่งอรุณขึ้นแล้วก็ตาม บรรดาอุละมาอฺทั้งหลาย ถือว่าการถือศีลอดของเขานั้นเศาะฮฺ (ใช้ได้)
65. สตรีหรือมุสลิมะฮฺผู้ที่รู้ตัวเองว่า โดยปกติแล้วรอบเดือนจะถึงกำหนดมาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ตราบใดที่ยังไม่เห็นเลือดก็ให้เขามีนียะฮฺ หรือตั้งเจตนาถือศีลอดไปก่อน
66. หนทางที่ดีที่สุด สำหรับสตรี หรือมุสลิมะฮฺที่มีรอบเดือน ก็คือไม่ว่านางจะอยู่ในสภาพใดก็ตามให้นางยอมรับหรือยินดีต่อการกำหนดของอัลลอฮฺ ไม่ควรกังวลใจ หรือพยายามใช้วิธีการรับประทานยาควบคุมระดู แต่จงถือเมื่อสะอาดเท่านั้น และค่อยชดใช้ในวันที่ขาดไป อันเป็นความรู้สึกที่บรรดาภรรยาของท่านนบี  และบรรดาสตรีเศาะฮาบะฮฺทั้งหลายยึดถือปฏิบัติกันมา
67. กรณีของการแท้ง หากสิ่งที่แท้งนั้นอยู่ในสภาพที่เริ่มเป็นมนุษย์แล้ว เช่น อวัยวะ ศีรษะ แขน ขา ถือว่านางนั้นอยู่ในสภาพของผู้มีนิฟาส (มีเลือดหลังคลอดบุตร)
หากสิ่งแท้งออกมาเป็นเพียงก้อนเลือดเล็ก ๆ เท่านั้นถือว่าเลือดนั้นเป็น "เลือดอิสติหาเฎาะ" (เลือดตกค้าง) ให้นางถือศีลอดต่อไปได้ หากมีความสามารถ
สตรีคลอดบุตร หากเลือดนิฟาสของนางหยุดก่อนกำหนด 40 วัน ก็ให้นางถือศีลอด และชำระร่างกาย ทำนมาซได้ปกติ แต่ถ้าหากเกินกว่า 40 วันขึ้นไป ให้นางตั้งใจเจตนาถือศีลอดได้เลย ไม่ต้องรีรอและให้อาบน้ำชำระร่างกายได้ เพราะว่าเลือดที่ยังมีอยู่หลังจากกำหนด 40 วันนั้นเป็นเลือด "อิสติหาเฎาะฮฺ" เท่านั้น
68. เลือดอิสติหาเฎาะฮฺนั้น คือเลือดเสียธรรมดาที่อาจตกค้างหรืออยู่หลังจากรอบเดือน หรือนิฟาสหมดไปแล้ว ไม่ทำให้เสียศีลอด
69. กรณีของสตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมทารก สามารถเปรียบเทียบ (กิยาส) ได้กับบุคคลที่ป่วย ซึ่งอนุโลมให้ไม่ต้องถือศีลอดในช่วงนั้น แต่ต้องชดใช้ในภายหลัง ทั้งนี้เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของแม่และเด็กได้
ท่านนบี กล่าวว่า "แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงผ่อนผันการถือศีลอด และครั้งหนึ่งของนมาซให้แก่ผู้เดินทาง (มุซาฟิร) และทรงผ่อนผันการถือศีลอดให้แก่หญิงมีครรภ์ และหญิงที่ให้นมทารก"
70. สตรีที่จำเป็นต้องถือศีลอด หากสามีของนางได้ร่วมประเวณีด้วยในตอนกลางวันของเดือนรอมฎอน ด้วยความยินยอมของนาง ดังนั้นทั้ง 2 คนถือว่ามีความผิดที่เหมือนกัน คือจำเป็นต้องรับโทษโดยการถือศีลอดติดต่อกัน 2 เดือน หรือให้อาหารแก่คนยากจน 60 คน แต่หากเป็นไปด้วยการถูกบังคับโดยที่นางไม่ยินยอม หรือเต็มใจด้วย ก็ย่อมไม่เป็นความผิดอันใดแก่นาง และให้นางถือศีลอดต่อไปจนตลอดวัน
ท่านอิบนุอะกีล เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า "กรณีของสตรีที่สามีได้ร่วมประเวณีกับนาง ขณะที่นางกำลังหลับในตอนกลางวันของรอมฎอน นางไม่ต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺ (ค่าปรับ) แต่อย่างใด"
แต่ทั้งนี้หากนางมีความคลางแคลง หรือความรู้สึกที่ไม่ค่อยสนิทใจนัก ก็ให้นางถือชดใช้เสีย เพื่อความมั่นใจและแน่นอน
ฉะนั้นมุสลิมะฮฺ ท่านใดที่ทราบว่าสามีของตนนั้น มีความรู้สึกทางเพศรุนแรง และควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ค่อยได้ ก็ให้นางพยายามปลีกตัวออกห่าง และหลีกเลี่ยงการแต่งตัวหรือใส่เครื่องหอมในช่วงกลางวันของเดือนรอมฎอน ก็จะเป็นการดียิ่ง.
******** *********

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

แนวข้อสอบเตาฮีด ชั้น 5 คร๊าบ

أ- إملأ الفراغ الآتي بالكلمات الآتية :- (10 درجات (الصفحة 34-35)
ب. اكتب أسماء الصحابة في الأماكن المعدة ؟ (10 درجات
ج. ضع علامة (√) أمام الجملة الصحيحة الآتية (5
1. النفاق العملي لا يخرج من الملة. 2. الكفر الأصغر يخرج من ملة الاسلام
3. خاتم النبيين معناه لا نبي بعده. 4. الكفر الأكبر لا يخرج من ملة الاسلام 5. من علامة حب النبي طاعته في أمره فقط.
د. وافق العبارات المناسبة بين المجموعة الأولى والثاني الآتية :- (5
المجموعة الأولى
المجموعة الثانية
كفر التكذيب
الكفر الأصغر
النفاق الإعتقادي
النفاق العملي
الواجب على المسلم للرسول
الإيمان بانه رسول الله حقا
إذا حدث كذب
كفر النعمة
بغض الرسول
التكذيب بالقرآن ورفض شريعة الله
ر. أجب عن الأسئلة الآتية :- (10)
1. ماهو الكفر ؟ 2. كم أقسام الكفر؟ واذكرها ؟ 3. ماهو النفاق ؟ 4. كم أقسام النفاق ؟ واذكرها ؟ 5. أذكر الفرق بين النفاق الإعتقادي والنفاق العملي ؟ 6. لمن أرسل الرسول ؟ 7. ما الشفاعة التي يتخلى عنها أولى العزمي من الرسول ؟ 8. أذكر ثلاثا من أنواع النفاق الإتقادي ؟ 9. أذكر ثلاثا من أنواع النفاق العملي ؟ 10. ما معنى خاتم النبيين ؟

โครงงานคุณธรรม

ชื่อโครงงาน ละหมาดสู่คุณธรรม
ชื่อผู้จัดทำโครงงาน กลุ่มนักเรียนโรงเรียนบ้านตาลีอายร์
ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4—6
อาจารย์ที่ปรึกษา 1. นายดอแม นาเดร์
2. นายภานุ วาแม็ง
3. นางนินูรียะห์ เจ๊ะอาลี
ปีการศึกษา 2551

บทคัดย่อ
โครงงาน เรื่องละหมาดสู่คุณธรรม มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อให้นักเรียนมีความรู้และเข้าใจในการละหมาด
2) เพื่อให้นักเรียนมีระเบียบวินัยตรงต่อเวลาในการละหมาด 3) เพื่อให้นักเรียนได้รู้คุณค่าในการละหมาด
4) เพื่อสร้างนักเรียนให้เป็นแบบอย่างแก่ชุมชน 5) เพื่อให้นักเรียนมีการนำคุณธรรมของการละหมาดและ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน 6)เปรียบเทียบนักเรียนที่ละหมาดในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละชั้นเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
โรงเรียนบ้านตาลีอายร์ จำนวน 63 คน โดยใช้แบบบันทึกการละหมาดประจำวันเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล
ผลการดำเนินงาน พบว่า
1) เปรียบเทียบนักเรียนที่ละหมาดในแต่ละช่วงเวลาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 พบว่า จำนวนนักเรียนที่ละหมาดในช่วงเวลาแตกต่างกัน คือ นักเรียนที่ละหมาดในเวลาซุฮรี อยู่ในระดับมาก
(65.48 %) รองลงมาในเวลามัฆริบ (64.09 %) อัสรี (63.44 %) อีซา (60.62%) และซุบฮี (53.61%) ตามลำดับ
2) เปรียบเทียบนักเรียนชายและหญิงที่ละหมาดในแต่ละช่วงเวลา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
พบว่า จำนวนนักเรียนชายและหญิงที่ละหมาดในช่วงเวลาแตกต่างกัน คือ นักเรียนชายที่ละหมาดในเวลาซุฮรี อยู่ในระดับมาก (74.00 %) รองลงมาในเวลามัฆริบ (64.17 %) อัสรี (62.25 %) อีซา (59.06%) และซุบฮี (52.76%) ตามลำดับ ส่วนนักเรียนหญิงละหมาดในเวลาซุฮรี อยู่ในระดับมาก (80.56 %) รองลงมาในเวลา อัสรี (64.74 %) มัฆริบ (63.74 %) อีซา (62.34 %) และซุบฮี (54.53 %) ตามลำดับ
3) เปรียบเทียบนักเรียนที่ละหมาดในแต่ละชั้นเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 พบว่า นักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีการละหมาดอยู่ในระดับมาก (80.32 %) รองลงมานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
(60.16 %) และ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (48.53 %) ตามลำดับ