กองทุน มะอาริฟ

“เป็นกองทุนอิสลามเพื่อการกุศล ที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตพี่น้องมุสลิม”

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การถือศีลอดในยุคเทคโนโลยี

ปลายคริสตวรรษที่ 20 วิทยาการและเทคโนโลยีไหลกรากท้วมท้นศาสนาเก่าทุกศาสนากระทบและท้าทาย กระแสเทคโนโลยีแย่งชิงให้ผู้คนให้หลุดพ้นจากศาสนา โบสถ์วิหารจำนวนไม่น้อยถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนบ้าง บ้านพักคนชราบ้าง
ต้นปี 2539 ผู้นำในศาสนานิกายหนึ่งออกมาประกาศว่า นรกในศาสนาไม่เลวร้ายอย่างที่คิด เป็นการแปรเปลี่ยนทัศนะของฝ่ายศาสนาเพื่อหาหนทางที่จะดึงผู้คนที่ถอยหนีศาสนากลับคืน
ในท่ามกลางกระแสแปรเปลี่ยนรุนแรง ศาสนาอิสลามของประชากรกว่า 1,300 ล้านคนทั่วโลกหลีกหนีแรงกระแทกไปไม่พ้น ในขณะที่อารยธรรมด้านต่างๆพากันปรับตัวเพื่อหลีกหนีการล้มสลาย ชาวมุสลิมผู้ศรัทธายึดมั่นในครรลองแห่งอดีตที่ลุล่วงมานานกว่า 1,400 ปี
มุสลิมที่ยึดมั่นในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ยังเชื่อฟังคำสอนของศาสดามูฮัมมัด  ยังปฏิบัติตนเลียนแบบท่านศาสดา ทุกวันนี้มุสลิมทั่วโลกยังนมัสการพระผู้เป็นเจ้าวันละ 5 เวลา ยังถือศีลอดปีละ 1 เดือนยังบริจาคทานและยังแห่แหนไปแสวงบุญยังนครมักกะฮ์
คำถามท้าทายในท่ามกลางกระแสคลั่งเทคโนโลยี คือ อิสลามจะทนยืนหยัดไม่ยอมยืดหยุ่นไปกับการแปรเปลี่ยนของโลกไปได้อีกนานเท่าใด ในยุคเทคโนโลยีและบริโภคนิยม เช่นปัจจุบัน การถือศีลอดไม่กินไม่ดื่มไม่เสพกามในเวลากลางวัน อดทนอดกลั้นทำบุญทำทานกันตลอดเดือนรอมฎอน หรือเดือน 9 ตามปฏิทินอาหรับเป็นอีกสิ่งหนึ่งของอิสลามที่กำลังถูกทดสอบ
การถือศีลอดเป็นคำเรียกในภาษาไทยเพื่อแปรความในภาษาอาหรับว่า "อัซ-เซามุ" หรือ "อัศ-ศิยาม" ซึ่งหมายถึงการยับยั้ง การงดเว้นจากสิ่งหนึ่ง ชาวมุสลิมเมื่อมีอายุเข้าเกณฑ์หรือตั้งแต่ 13 ปีเป็นต้นไป หากมีสภาพร่างกายปรกติไม่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ไม่เป็นหญิงที่อยู่ในช่วงมีเลือดประจำเดือนหรือตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือเป็นผู้ไม่อยู่ในช่วงของการเดินทางไกล จะต้องถือศีลอดตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก
ในยุคข้อมูลข่าวสาร โลกก้าวหน้าทางการแพทย์ทุกวันนี้ แม้มุสลิมจะยังไม่ทันได้ตอบให้ผู้ที่มิใช่มุสลิม ได้ทราบว่าการถือศีลอดสร้างปัญหาแก่สุขภาพหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่ต่างพากันตรวจสอบผลกระทบของรอมฎอนต่อสุขภาพกายและใจของมุสลิมกันล่วงหน้าแล้ว แต่หากเมื่อยิ่งตรวจสอบก็ยิ่งพบและสิ่งที่พบคือความมหัศจรรย์ในหลักการอายุกว่า 1,400 ปี
ในปี 2531 นายแพทย์ P.Mansell และ I.Mecdonald รายงานไว้ในวารสาร British Medical Joumal และ Journal of Physiology ว่าการให้หญิงปรกติลดอาหารเป็นเวลา 7 วัน ร่างกายของผู้หญิงจะเริ่มปรับตัวไปทีละน้อยทุกวัน บทสรุปคือร่างกายมนุษย์ปรับตัวเพื่อให้รับสภาวะต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้แต่การปรับตัวจะทำให้ดีจะต้องมีการฝึกฝน
เมื่อได้ลองให้หญิงจำนวนหนึ่งอดอาหารอย่างสิ้นเชิงที่มุสลิมทำกัน ปรากฏว่าระบบย่อยอาหารทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้น ซึ่งปัญหาของอินซูลินนี้เอง ที่แพทย์ยุคใหม่สรุปว่าเป็นแกนในการสร้างปัญหาให้เกิดโรคที่เรียกว่า Syndrorne x อันประกอบไปด้วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันสูง โรคไต ไขมันสูงในเลือด ซึ่งเป็นโรคของมนุษย์ยุคเทคโนโลยี
การอดอาหารทำให้เกิดผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ขณะเดียวกันภาวะไขมันในเลือดกับดีขึ้น นายแพทย์ Maislos แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียนในอิสราเอลรายงานไว้ใน American Jounal of Clinical Nutrition ปี 1993 ว่าชาวอาหรับเบดูอินที่ถือศีลอดมีระดับ HDL ในเลือดมีระดับสูงขึ้น 30 % HDL เป็นพารามิเตอร์ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการขจัดคอเลสเตอรอลในเลือด เมื่อ HDL มีระดับสูงขึ้นย่อมบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจของคนผู้นั้นลดลง การถือศีลอดจึงช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ ข้อที่น่าสังเกตในกรณีนี้คือชาวเบดูอินเป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในโลกยุคเก่า กินน้อยใช้น้อยผิดกับยุคบริโภคนิยม ย่อมหมายความว่าการถือศีลอดในแนวทางของท่านศาสดาเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพอย่างแท้จริง
งานวิจัยของทางการแพทย์มากมายที่ยืนหยัดว่าการถือศีลอดไม่สร้างอันตรายให้แก่ร่างกาย นายแพทย์ Pierre Edouad แห่งกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสกล่าวไว้ในปี 2539 หากคนฝรั่งเศสที่มีปัญหาโรคอ้วน จำนวน 9 ล้านคนต้องการลดความอ้วนโดยร่างกายยังมีสุขภาพที่ดี การถือศีลอดแบบมุสลิมนาน 1-2 เดือนจะเป็นวิธีการดีที่สุด
การศึกษาของคณะแพทย์ที่โรงพยาบาล Sorrento เมืองเบอร์มิงแฮมของอังกฤษเมื่อปี 2532 พบว่า หญิงมุสลิม 2,200 คนตั้งครรภ์และยังถือศีลอดตลอดเดือนนรอมฎอนไม่มีปัญหาความผิดปรกติเลย นายแพทย์ J.Cross ของอังกฤษรายงานในปี 2533 ว่าเด็กทารกจำนวน 13,000 คนที่คลอดจากมารดาที่ถือศีลอดนั้นร่างกายแข็งแรงไม่มีความผิดปรกติแต่อย่างใด
กรณีของหญิงให้นมบุตรนั้น น้ำนมลดปริมาณลดลงแต่สารอาหารในน้ำนมเข้มข้นสูงขึ้น เด็กทารกที่ดื่ม นมมารดาที่ถือศีลอดจึงไม่ขาดอาหาร มีรายงานทางการแพทย์ด้วยว่าผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหัวใจ หากรับประทานอาหารตอนรุ่งเช้า (สะฮุร) และยาตามแพทย์สั่งสามารถถือศีลอดได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม หลักการของอิสลามนั้นการถือศีลอดเพื่อปกป้องจากความเชื่อและการมีสุขภาพที่ดี กรณีของผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรนั้นแม้จะไม่อันตรายแต่อิสลามได้ให้ข้อยกเว้นไว้โดยสามารถบริจาคแทน ได้ เรื่องนี้ เรื่องนี้ นายแพทย์ Aead tashid แห่งประเทศกาตาร์ สรุปไว้ในวารสาร British Medical Journal ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ปลอดภัยในคนปรกติส่วนผู้ป่วยควรเว้นซึ่งเป็นไปตามหลักการของอิสลาม
การที่อิสลามห้ามเรื่องการถือศีลอดในผู้ป่วยนั้นมีหลายสาเหตุที่รับฟังได้ ผู้ที่เป็นโรคไต เบาหวาน ขั้นรุนแรง โรคกระเพาะ หากถือศีลอดโดยไม่ฟังคำแนะนำจากแพทย์อาจมีอาการของโรครุนแรงขึ้นอาการ ขาดน้ำช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอาจสร้างปัญหากับโรคที่กล่าวถึงข้างต้น
อาการขาดน้ำอาจสร้างปัญหาอย่างหนึ่งให้เกิดในคนปรกติบางคนได้เช่นกัน รายงานของคณะแพทย์ ตีพิมพ์ใน Australian New Zealand Joumal เขียนไว้ว่าผู้ถือศีลอดอาจมีปัญหาธาตุโปรตัสเซี่ยมต่ำในเลือดอันเกิดจากการขาดน้ำ น่าแปลกใจว่าในผลอินทผลัมที่ชาวมุสลิมรับประทานขณะถือศีลอดช่วงเวลาเย็นโดยยึดถือตามแบบฉบับท่านศาสดามุฮัมมัด  นั้นมีธาตุโปรตัสเซี่ยมอยู่สูงถึง 54 มิลลิกรัมต่อหนึ่งผลขนาดกลางซึ่งถือว่ามีปริมาณโปรตัสเซี่ยมสูงเมื่อเทียบกับผักผลไม้ชนิดอื่น ทั้งยังมีน้ำตาลผลไม้ชนิด ฟรุสโตสที่ปรับปรุงการทำงานของ อินสุลินได้ด้วย
ความเชื่อทางศาสนาจำนวนไม่น้อยสุญสิ้นไปตามกาลเวลา ยุคเทคโนโลยีปลายศตวรรษที่ 20 เร่งการสาบสูญในทุกลักษณะให้รวดเร็วขึ้น แต่ถึงกระนั้นยังมีศาสนาอีกจำนวนไม่น้อยที่ยืนหยัดกล้าท้าทายความเปลี่ยนแปลง หลักการของอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวแห่งการถือศีลอดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างบทพิสูจน์ให้มนุษย์ในยุคเทคโนโลยีได้เห็นว่าแท้ที่จริงศาสนากับเทคโนโลยีก้าวคู่สู่ศตวรรษใหม่แห่งวิทยาการได้เสมอ
******** *********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น